ครม.ไฟเขียว ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90 เฉพาะปีภาษี 63 ลดผลกระทบโรคโควิด-19

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. …. (พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ)

สาระสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ ทำเกษตรกรรม, ที่อยู่อาศัย, ที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากทำเกษตรและอยู่อาศัย , ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ตัวอย่างการลดจำนวนภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ดังนี้

1. ที่ดินประกอบการเกษตร

    • เป็นบุคคลธรรมดา กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 63 – 65) ได้รับยกเว้นจัดเก็บภาษี
    • เป็นนิติบุคคล ที่ดินมีมูลค่า 5 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.01 คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะจ่ายเพียง 50 บาท

2. ที่อยู่อาศัย

    • บ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
    • เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
    • บ้านหลังอื่นหากมูลค่า 5 ล้านบาท จะเสียภาษีที่อยู่อาศัยร้อยละ 0.02 คิดเป็น 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะจ่ายเพียง 100 บาท

3. ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม

    • มูลค่าราคาประเมิน 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น

การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะส่งผลกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่จะนำไปดำเนินภารกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ (จำนวน 39,420 ล้านบาท) แต่จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ในช่วงเวลานี้

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
  2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
  3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์  ในการประกอบเกษตรกรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย
  2. ระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 2739020 ต่อ 3511 3526 3548 3521

ร่วมแสดงความคิดเห็น