สมาชิกวุฒิสภาสนทนาออนไลน์กับลูกหลานเยาวชน

ข้าราชการต้องไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามกระแสการเมือง ที่จะทำให้ชาติแบ่งแยก แตกแยก ไม่มีเอกภาพ ปราศจากคุณธรรม การปฏิรูประบบราชการให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดความปกติใหม่ “New Normal”

การปฏิรูประบบราชการถือเป็นงานใหญ่ ยอมรับว่าเป็นงานยากและเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในและภายนอกมากมาย แต่หากทุกฝ่ายพร้อมใจกัน ไม่หวั่นเสียอำนาจ เสียผลประโยชน์ มีหรือที่จะไม่สำเร็จ ประสบการณ์ในการปฏิรูประบบราชการในอดีตเป็นอุทาหรณ์สอนใจเราทุกคนว่า การปฏิรูประบบราชการเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่ยากต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจ กล่าวคือ สร้างความตระหนัก โดยเฉพาะข้าราชการที่คุ้นเคยอยู่กับการปฏิบัติงานตามระบบเดิมมานาน จึงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์โดยตรง ได้แก่ การทุจริต กินสินบาทคาดสินบน การสร้างความเข้าใจกับข้าราชการจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของผู้บริหารที่จะต้องเป็นหลักในการปฏิรูปการปรับเปลี่ยนแนวคิดสู่สิ่งที่ดีของชีวิตอันเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและเทคนิคทางวิชาการหลายด้าน ซึ่งนับเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในเวลาเช่นนี้ คือ การที่ข้าราชการและประชาชนต้องปรับตัวสู่การดำรงชีวิตตามแนวคิดความปกติใหม่ หรือ “New Normal” ได้แก่ เรื่อง ความมีระเบียบ ความพอเพียง การบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดขั้นตอน (Reducing a complex procedure) แต่ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ไม่ใช่เลยกลายเป็นง่ายต่อการทุจริตรับสินจ้างรางวัล มีมาตรฐานวิชาชีพที่ดี (Good Professional Practices) มีระบบราชการที่มีระเบียบ (Procedural Bureaucracy) รวมถึงความสัตย์ซื่อสุจริต ระบบคุณธรรม ข้าพเจ้าจะขอใช้คำพูดที่ว่า “ความปรกติใหม่ คือ ความมีจริยธรรม ใจนำชัย รับผิดชอบชั่วดี บุคคลสุจริต จิตบริการ บุคลากรมีศรัทธา มุ่งหมายผลสัมฤทธิ์ ฯลฯ”

ดังนั้น ข้าราชการทุกๆ ระดับจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดและหลักการในการจัดโครงสร้างทางการบริหารจัดการ การปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนกลาง บริบทดังกล่าวคืออะไร ราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคืออะไร ต้องมีความชัดเจน ต้องรับผิดชอบ ต้องไม่ก้าวก่าย ไม่ให้ร้าย ไม่อิจฉาตาร้อน การปรับวิธีคิดตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และแนวทางการปฏิบัติราชการในรูปแบบความปรกติใหม่ เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างและแกนนำสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักมีกระแสการสนับสนุนและกระแสการต่อต้านไม่แพ้กัน ซึ่งผู้สนับสนุนมักเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่มีอำนาจและผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับองค์กร ส่วนผู้ต่อต้านมักเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อันหมายถึงการปฏิรูป

หลักการสำคัญของการปฏิรูประบบราชการจึงสมควรมีการปรับปรุงและปฏิรูปจากเรื่องที่มีหลักการรองรับ ยึดหลักเมตตาธรรม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำผู้รอบรู้จำนวนมากเข้ามาอยู่ในกระบวนการทางความคิดและปัญญาที่เรียกว่า ‘คลังสมอง’ (Knowledge Source) เพื่อให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลาย นานาทัศนะ ความแตกต่างเหล่านี้เองเมื่อนำมาวิเคราะห์ศึกษาและสังเคราะห์อย่างรอบคอบแล้ว ย่อมจะนำมาซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอันเป็นผลสัมฤทธิ์และความรักสมัครสมาน

ในประการสำคัญที่สุดก็คือ การปฏิรูประบบราชการจะต้องมีเป้าหมายชัดเจนและจะต้องเน้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ให้ชัดเจน ประโยชน์ที่รัฐพึงจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แนวคิดการปฏิรูประบบราชการเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชน การบริหารจัดการและการจัดสรรคุณค่าและทรัพยากรของแผ่นดินให้ถึงมือประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้เสียเปรียบในสังคม

บทสรุป คือ การปฏิรูประบบราชการต้องมุ่งปลูกฝังค่านิยมของการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลทางการบริหาร ปราศจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามกระแสการเมืองจนประเทศชาติเกิดความแบ่งแยก แตกแยก และต้องเผชิญต่อความล้มเหลวทางการบริหารไม่จบสิ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น