รถขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ ทยอยเจ๊ง ! เหตุผู้โดยสารลด

หนึ่งในคณะทำงานชุดคณะอนุกรรมการ จัดระบบการจราจรทางบก จ.เชียงใหม่ 2563 กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดได้ส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยว การใช้ชีวิตตามปกติที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ขอความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดโรค โดยเฉพาะในกลุ่มกิจการบริการขนส่งรถโดยสารสาธารณะ

ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มรถโดยสารสาธารณะหลากหลาย จำนวนมาก ทั้งรถทัวร์, รถตู้นำเที่ยว, รถโดยสารสี่ล้อแดง  ในกลุ่มรถที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นครลานนาเดินรถก็ราว ๆ 2 พันกว่าคัน รถแท๊กซี่มิเตอร์อีกหลายร้อยคัน และยังมีรถเมล์เล็กของเทศบาลนครเชียงใหม่ อีกจำนวนหนึ่ง รถเมล์แอร์ อาร์ทีซี 17 คัน 3 เส้นทาง ในอนาคต ยังมีแผนจัดสร้างรถรางไฟฟ้า สาย รพ.นครพิงค์ – สนามบินอีกด้วย

“จังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของภาค บรรดาเมืองท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะมีการร่วมมือของภาคเอกชนจัดตั้งบริษัท ด้านบริการรถโดยสารประจำทาง รูปแบบกิจการร่วมพัฒนาเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ลดพฤติกรรมการใช้รถส่วนบุคคล ท้ายที่สุดบางจังหวัดที่ตั้งใจดำเนินการแผน เพื่อกิจการขนส่งมวลชนเพื่อสาธารณะต้องหยุดเดินรถ คืนใบอนุญาตเส้นทาง พร้อมแบกรับหนี้สินจากการขาดทุนด้านบริการเพียง 1 ปี เกือบ 10 ล้านบาท เป็นต้น”

ภาคประชาสังคม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ มีกิจกรรม โครงการเพื่อบริหารจัดการรถขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา หลายร้อยล้านบาท เฉพาะงบจัดซื้อรถเมล์ 26 คัน บริการในเขตนครเชียงใหม่ เหลือวิ่งไม่กี่คัน ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ใช้งบประมาณบริหารจัดการเรื่องนี้กันมาน่าจะร่วม ๆ ร้อยล้านบาทแล้ว

“ที่ผ่าน ๆ มา ในช่วง 5 ปี ยังมีงบศึกษา วางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การจัดงบชดเชยกลุ่มรถสี่ล้อแดงที่ร่วมนำร่องบริการ ขนส่งสาธาณะในเส้นทางสายหลัก ๆ อีกหลายสิบล้านบาท”

ผู้ประกอบการเดินรถ ใน จ.เชียงใหม่ หลายกิจการ ระบุว่า แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. จะรายงานมติที่ประชุมว่า มีมาตรการผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะที่ 4 หนึ่งในนั้นคือให้บริการขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัด ข้ามภาคมากขึ้น แต่ต้องมีการจำกัดพื้นที่โดยสารเว้นที่นั่ง ไม่เกิน ร้อยละ 70 ของความจุผู้โดยสารตามมาตรฐาน

“ส่งผลให้ ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง ต้องร่วมกันเพิ่มเที่ยววิ่งร่วมกันในลักษณะแชร์เที่ยววิ่ง เพื่อให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ลดปัญหาการขาดทุนสะสม มาตรการให้ขายตั๋วแบบที่เว้นที่ ตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลทำให้ทุกเที่ยวที่วิ่งประสบปัญหาขาดทุน ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ คาดว่าปีนี้จะมีการทยอยคืนเส้นทางเดินรถอีกเยอะ เพราะขาดทุนหนัก พฤติกรรมคนเดินทาง เปลี่ยนไป กลัวโรคติดต่อ”

ในขณะที่ผู้บริหาร สหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด ยอมรับว่า สหกรณ์มีสมาชิกรถแดง กว่า 2 พันคัน เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ได้รับผลกระทบกันหมด กลุ่มที่พอมีงานอื่นเสริม รับลูกค้าประจำ นำเที่ยวบ้างพออยู่ได้ แต่กลุ่มที่เช่ารถขับ หรือ มีทางอื่นดีกว่า ก็หันไปทำอย่างอื่น คืนรถ ขายรถ จะตระเวณรอรับส่งผู้โดยสาร ช่วงนี้ ผู้โดยสารลดลงมาก ผู้คนในเชียงใหม่ยังนิยมใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะจักรยานยนต์ที่มีมากกว่าล้านคัน

ภาคประชาสังคม ในเชียงใหม่ กล่าวว่า “ข้อคิดเห็นที่หลาย ๆ ฝ่ายนำเสนอเกี่ยวกับปัญหา ขนส่งมวลชนขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ นั้นเป็นประเด็นเดิม ๆ ที่มีความพยายามคลี่คลาย แก้ไข มาต่อเนื่องของแต่ละหน่วยงาน แต่อุปสรรคปัญหาใหญ่ คือรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่นครเชียงใหม่มีมากเกินไป และผู้คนยังใช้รถส่วนตัว ใช้รถจักรยานยนต์กันมาก ในขณะที่เส้นทางบางสาย ผู้โดยสารแน่น เพราะรถมีไม่เพียงในชั่วโมงเร่งด่วน”

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ สายสีแดงวิ่งเส้นทาง รพ.นครพิงค์ ถึงแยกแม่เหียะ ระยะทาง 16 กม. มูลค่าลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท ผลศึกษา จะได้ข้อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีก็ช่วง ก.พ. ปี 2564 โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ก็รอลุ้นติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

“ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงใกล้เปิดเทอม 1 ก.ค.นี้ พฤติกรรมการใช้รถส่วนตัว ปัญหารถติดช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะบางเส้นทางสายหลัก ๆ ที่ผู้ใช้บริการมีมากกว่ารถ ภาพการห้อยโหนรถ จะยังมีหรือไม่ก็ต้องรอดูกัน แต่ที่แน่ ๆ คือ รถสี่ล้อแดง รถแท๊กซี่ หายขายไปเยอะ บรรดารถตู้รับส่งนักเรียน รถนำเที่ยวกับรูปแบบวิถีใหม่ จะบังคับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ผลมากน้อยเพียงใด ในท่ามกลางระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ยังคืบหน้าไม่ถึงไหนเลย”

ร่วมแสดงความคิดเห็น