Back to the NEW NORMAL พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ (เหมืองแม่เมาะ) กลับมาเปิดให้บริการ 1 ก.ค. นี้

หลังจากพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ศูนย์การเรียนรู้ แม่เมาะ

ล่าสุด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ (เหมืองแม่เมาะ) จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมกับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) จังหวัดกาญจนบุรี, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ (พลังคิด) จังหวัดสงขลา, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก (พลังคิด ดี) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จังหวัดนนทบุรี และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา

นายอำพล กิติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศทั้ง 6 แห่ง เตรียมพร้อมจะการกลับมาเปิดให้บริการเข้าชม ซึ่งมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ประกอบด้วย
1. จองรอบการเข้าชมล่วงหน้า โดยต้องแจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เข้าชมทุกท่าน
2. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.
3. เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-1.5 เมตร
4. ตรวจวัดอุณหภูมิโดยกำหนดไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หากพบอุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขอสงวนสิทธิ์เข้าชมทั้งคณะ
5. ลงทะเบียน เข้า-ออก ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือรูปแบบอื่นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. กำหนด
6. ก่อนเข้าชมนิทรรศการ จะต้องรอในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น
7. ผู้เข้าชมจะต้องเดินตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำหนดเท่านั้น
8. กรุณาปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
9. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะติดต่อไป เพื่อติดตามผลหลังจากการเข้าชม 14 วัน

นายอำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ (เหมืองแม่เมาะ) จะกลับมาเปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) รอบเวลาเยี่ยมชม 4 รอบ คือ 09.00 น. / 10.30 น. / 13.00 น. และ 14.30 น. พร้อมกับสวนพฤกษชาติ และพิพิธภัณฑ์เครื่องจักรเก่า รวมถึงสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวพร้อมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ทาง Facebook Fanpage : พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ เหมืองแม่เมาะ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 054-254930


สำหรับพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ (เหมืองแม่เมาะ) ตั้งอยู่บริเวณเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มุ่งเน้นการให้ความรู้ เพื่อตระหนักถึงความสําคัญของพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติถ่านหินขนาดใหญ่ ที่มีความสําคัญขับเคลื่อนพลังงานที่มีต่อความมั่นคง ด้านพลังงานของประเทศ โดยนํามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้สู่ประชาชน

ขณะเดียวกัน ยังนำเสนอกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และให้ความสําคัญต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลและพัฒนาชุมชน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แบ่งโซนการแสดงออกเป็น 7 โซน ดังนี้


โซน 1 : นิทรรศการชั่วคราวและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพลังงาน ผู้ทรงบุกเบิกกิจการพลังงานของไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อความมั่นคงของไทย การสำรวจและทรงให้สงวนถ่านหินไว้สำหรับใช้ในราชการไทย เป็นการวางรากฐานด้านพลังงานไทย

โซน 2 : จักรวาลโลก และถ่านหิน กำเนิดจักรวาลจากเหตุการระเบิดครั้งใหญ่ สู่การรวมตัวกันของมวลสารและพลังงานมหาศาล กลายเป็นดวงดาว กาแล็กซี และ “โลก” ของเรา ความเปลี่ยนแปลงกว่าหลายพันล้านปี จนเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด วิวัฒนาการเหล่านี้เอง ที่ทำให้เกิดทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลกในเวลาต่อมาคือ “ถ่านหิน”

โซน 3 : จากผืนน้ำและแผ่นดิน แอ่งแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่สำคัญของประเทศไทย ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์หลากหลายชนิด เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของพื้นที่แห่งนี้ บ่งชี้ถึงความเก่าแก่ของพื้นที่จากแอ่งทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ สู่ยอดเขาสูงในปัจจุบัน

โซน 4 : พลังงานขับเคลื่อนไทย โรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อตั้งบนพื้นที่ ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรถ่านหินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ต้นทุนทางธรรมชาติ ที่สำคัญต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายสู่ประชาชนคนไทย การพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่อดีต และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการผลิตถ่านหิน ไปจนถึงกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า และมาตรการในการควบคุมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเป็นฐานการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ เสริมสร้างความมั่นคง

โซน 5 : มุ่งสู่อนาคต พลังงานไฟฟ้าผลิตโดยเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด ทั้งจากเชื้อเพลิง ฟอสซิล พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน โดยใช้เทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนทางทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความยั่งยืนและเสถียรภาพ

โซน 6 : จุดเปลี่ยนโลกและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิวัฒนาการและการค้นพบไฟฟ้าที่มีมานานนับพันปี จากการค้นพบไฟฟ้าสถิตย์สู่การพัฒนากระแสไฟฟ้า ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไฟฟ้า

โซน 7 : แม่เมาะ และชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ กับกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนโดยรอบอำเภอแม่เมาะ โดยคำนึงถึงศักยภาพทางพื้นที่ อัตลักษณ์ทางประเพณีและวัฒนธรรม ควบคู่กับวิถีชีวิตของคนโดยชุมชนในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น