ย่านท่าแพคึกคัก ปล่อยเช่า ขาย เซ้ง สร้าง โรงแรม ที่พัก กิจการไม่หยุด

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผย จากนักการตลาดอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่เชียงใหม่ ว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวตลาดที่ดินกิจการโรงแรม ที่พัก และบรรดาร้านอาหาร ร้านค้าบริเวณรอบย่านท่าแพ ตั้งแต่ ถ.คชสาร จรด ถ.ลอยเคราะห์ ถ.กำแพงดิน วนมาออก ถ.ท่าแพ ถ้าเลี้ยวเลาะตรวจสอบตามซอยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คชสาร ซ. 1 ท่าแพ ซ. 3-6 จะพบว่ามีการประกาศขาย ให้เช่า ปล่อยเซ้งตึก อาคาร โรงแรม ที่พัก และกำลังก่อสร้างโรงแรมบูติกใหม่ ๆ อีกหลายแห่ง

“ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ ในเขตเมือง มีความเคลื่อนไหว ประกาศขายเกสต์เฮ้าส์, โฮสเทล, โรงแรม ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 และเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี พอเริ่มมีภาวะแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาอีก นักท่องเที่ยวลดลงจนหายไป ทำให้กิจการประเภทอาคารพาณิชย์ที่ก่อสร้างก็ประกาศขาย ตามสภาพ ร้านค้า ร้านเหล้าก็ติดป้ายปล่อยเช่า เซ้งกันคึกคัก เก่าไปใหม่เข้ามาในธุรกิจนี้”

 

ด้านสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ ระบุว่าเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ รายได้หลัก ๆ จะมาจากภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตร กำลังซื้อเกิดจากการว่าจ้างงานที่อยู่ในภาคบริการที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดได้รับผลกระทบรวดเร็ว

 

“ความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ลดลงมาก รวมถึงลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว ปัจจุบันเริ่มประสบกับภาวะการขาดรายได้ จากการปิดกิจการชั่วคราว และการลดชั่วโมงการทำงาน ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ใน 6-12 เดือนข้างหน้า โอกาสในการฟื้นตัวเร็วจะเป็นไปได้ยาก ภาวะการขาย ให้เช่า เซ้งกิจการ ถือเป็นรูปแบบปกติในตลาด ซึ่งช่วงนี้อาจจะเพิ่มสูงกว่าปกติเท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตาม แวดวงนายหน้าค้าที่ดินและบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ ภาคเหนือ และ จ.เชียงใหม่ มองว่า ปัจจัยที่ธนารักษ์ ประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ เพื่อประกาศใช้ในรอบปี 2563-2566 แล้วเลื่อนบังคับใช้ออกไปอีกปี ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศขยับขึ้นราว ๆ 11% ในส่วนเชียงใหม่ก็ขยับไม่มาก บางทำเลที่มีโครงข่ายถนน คมนาคมตัดผ่าน อาจได้รับอานิสงน์ด้านราคา มีการปรับตัว ก็ยังเป็นราคาซื้อขายผ่านนายหน้า ยังไม่มีการซื้อขายจริง

“ที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งมี 321 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินเอกชน 127 ล้านไร่ 37.62 ล้านแปลง เป็นโฉนด 33.48 ล้านแปลง คิดเป็น 89% ที่เหลือเป็นที่ดิน เช่น น.ส.3 ก. น.ส.3 และใบจอง (ส.ค.1 หรือสิทธิครอบครอง) ภาวะราคาอสังหาริมทรัพย์ ทำเลที่มีการพัฒนา ลงทุนไป อาทิ ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม สะท้อนกลไกตลาดที่มีความเสี่ยงด้านการลงทุนเสมอ มือแรก ๆ ได้เปรียบ รายซื้อ เช่าต่อ ๆ มาเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับย่านพระปกเกล้า, มูลเมือง, ท่าแพ นครเชียงใหม่ อยู่ในภาวะ ตาดีได้ ตาร้ายเสีย กลุ่มนักลงทุนที่สายป่านไม่ยาว เลือกที่จะปล่อยกิจการ กำเงินสด ดีกว่ารอลุ้นอนาคต แต่ถ้ามีทุนหนา สายป่านยาว ช่วงนี้จะเป็นจังหวะนาทีทองของการเก็งกำไร จากการซื้อกิจการในตลาดช่วงภาวะโควิด-19 สำหรับเชียงใหม่แล้ว เมืองที่มีพัฒนาการมาสู่เมืองหลักของภูมิภาค มีความเป็นไปได้เสมอ ในทุกจังหวะของการลงทุน โอกาสดีก็อาจได้กำไร ถ้าพลาดไปก็สมฉายาเมืองปราบเซียน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น