ปภ.รายงานเกิดน้ำไหลหลาก 7 จังหวัด คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันที่ 1 ก.ค. 63 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 63 – ปัจจุบัน (1 ก.ค. 63 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ ชลบุรี และระยอง รวม 10 อำเภอ 21 ตำบล 57 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 527 หลัง ถนนเสียหาย 1 สาย ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 63 – ปัจจุบัน (1 ก.ค. 63 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลาก 7 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 21 ตำบล 57 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 527 หลัง ถนนเสียหาย 1 สาย ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แยกเป็นภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ลำปาง และเชียงใหม่ รวม 6 อำเภอ 11 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 457 ครัวเรือน ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี และระยอง รวม 4 อำเภอ 10 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 70 ครัวเรือน

โดยแม่ฮ่องสอน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอขุนยวม 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน ลำพูน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอแม่ทา รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5 ครัวเรือน
พะเยา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ 3 ตำบล 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน
ลำปาง เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอวังเหนือ 4 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 152 ครัวเรือน
เชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ชลบุรี เกิดน้ำไหลหลากในอำเภอศรีราชา รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระยอง เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอบ้านค่าย รวม 8 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภค-บริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือน เป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น