(มีคลิป) ทีมอาสาฯ ไฟป่าดอยสุเทพ ยันไม่เคยได้รับการสนับสนุนใด ๆ จาก “ฌอน”

จากกรณี ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชและเน็ตไอดอลชื่อดังที่ถูกสังคมตั้งประเด็นสงสัย เกี่ยวกับความโปร่งใสเรื่องเงินรับบริจาคช่วยอาสาสมัครดับไฟป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเรียกร้องให้ชี้แจงบัญชีรายรับจ่ายอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม “ฌอน” ยังคงเก็บตัวเงียบ พร้อมกับถูกขุดคุ้ยประวัติอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องของที่ตั้งร้านกาแฟ เต่า คาเฟ่ (TAO Cafe and Community) และพื้นที่ในโครงการ Dream Space Gallery ย่านถนนระแกง ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่ง “ฌอน” เคยนำชมและให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ ระบุว่าเป็นบ้านของตัวเอง แต่ความจริงปรากฏว่าเป็นของเอกชนรายหนึ่งที่อนุญาตให้ “ฌอน” เข้าไปใช้พื้นที่ฟรี โดยจ่ายเพียงค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น ไม่ใช่บ้านหรือที่ดินที่ “ฌอน” เป็นเจ้าของแต่อย่างใด รวมทั้งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า “ฌอน” เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

ข่าวคืบหน้าเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2563 นายกมลรัฐ ลิ้มไขแสง หรือ “พ่อหลวงอุ๋ย” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งหมู่บ้านอาสาเฝ้าระวังและดับไฟป่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ไฟไหม้ป่าดอยสุเทพอย่างรุนแรง และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทีมรถจักรยานยนต์วิบากสายตรวจไฟป่าของ ต.สุเทพ เปิดเผยว่า กรณีการเปิดรับบริจาคของ “ฌอน” นั้น เคยทราบจากข่าวและเข้าใจมาโดยตลอด ว่ามีการประสานกับหน่วยงานราชการในการที่จะนำส่งการช่วยเหลือสนับสนุนต่อให้กับชาวบ้าน และอาสาสมัครที่ทำงานในการดับไฟป่า กระทั่งมาทราบในภายหลังว่าไม่ได้มีการประสานใด ๆ ผ่านทางหน่วยงานราชการ ขณะที่ในส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จาก “ฌอน” รวมทั้งศิลปินดาราและคนดังอื่น ๆ ด้วย เพราะปกติจะรับผ่านทางหน่วยงานราชการเท่านั้น ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นอยากเรียกร้องให้ “ฌอน” ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างละเอียดโดยเร็ว

โดยจากกรณีที่เกิดขึ้นสร้างความกังวล และไม่สบายใจให้กับชาวบ้าน และอาสาสมัครเฝ้าระวังดับไฟป่าอย่างมาก เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของชาวบ้าน และอาสาสมัครในการทำงานช่วยจัดการไฟป่านั้นเป็นเรื่องงบประมาณ ที่ลำพังของทางราชการอย่างเดียวไม่เพียงพอ ขณะที่ชาวบ้านและอาสาสมัครต่างทำงานด้วยใจเสียสละ และไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการรับบริจาคในเรื่องอาหารการกินและอุปกรณ์การทำงาน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของชาวบ้าน และอาสาสมัครที่อุตส่าห์เสียสละลงแรงแล้ว ซึ่งปกติประชาชนและภาคเอกชน จะบริจาคสนับสนุนผ่านหน่วยงานราชการ เช่น อำเภอ, เทศบาล หรือทางอุทยานฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ทุกคนที่ทำงานต่างเกิดความกังวลใจ ว่าในอนาคตจะไม่มีใครกล้าบริจาคอีก ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการบั่นทอนกำลังใจคนเสียสละทำงานอย่างมาก

ทั้งนี้ นายกมลรัฐ ระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งอาสาสมัคร ถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดการไฟป่ารอบบริเวณดอยสุเทพ โดยมีการทำงานกันตลอดทั้งปี แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพราะตระหนักดีว่าพื้นที่ป่าดอยสุเทพนั้นเป็นหัวใจของเมืองเชียงใหม่ จึงต้องการจะป้องกันให้ปราศจากปัญหาไฟป่า โดยในช่วงที่ไม่มีไฟป่าจะร่วมกันทำแนวกันไฟและทำฝายชะลอน้ำ รวมทั้งปลูกป่าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นลดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ป่า ขณะที่เมื่อเข้าช่วงไฟป่าจะมีการจัดเวรเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและช่วยดับไฟป่าด้วย ซึ่งการบริจาคช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับชาวบ้านที่เสียสละ แทนที่จะต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองทั้งหมด

สำหรับสถานการณ์ไฟไหม้ป่าดอยสุเทพในปีล่าสุดนั้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ แสดงความเห็นว่า รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งหากมองในแง่ดีแล้วมีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้า สถานการณ์อาจจะไม่รุนแรงเหมือนปีนี้ เพราะจะทำให้เกิดการเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น และเชื้อเพลิงในป่าลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งยอมรับว่าทำให้ชาวบ้านที่ทำงานช่วยจัดการไฟป่า อาจจะเกิดความเป็นห่วงและเกรงกลัวขึ้นมาเช่นกันว่า หากเกิดสถานการณ์รุนแรงมาก ๆ จะเกินกำลังของชาวบ้านหรือไม่ แต่ทั้งนี้โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว ทุกปัญหาสามารถผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น