ชาวแพร่ตื่นตัวจัดเสวนาประชาคมหาแนวทาง บูรณะรักษาขอขึ้นทะเบียน วัดพระธาตุเจดีย์พระธาตุเก่าแก่อายุกว่า400ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสเหตุการณ์การรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์ม่า อาคารไม้เก่าแก่ที่เล่าขานประวัติศาสตร์การทำไม้สักของ จ.แพร่ ที่สวนรุกขชาติเชตวัน ต.ในเวียง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันได้เกิดการตื่นตัวของภาคสังคมทุกฝ่าย ในการร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่เป็นสมบัติของท้องถิ่นและของชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้น


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ วัดพระธาตุเจดีย์ หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ ได้เกิดเวทีประชาคมของทุกภาค ของชุมชนของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งภาคประชาสังคมใน ต.ทุ่งกวาว ในการเสวนาพูดคุยหาแนวทางในการอนุรักษ์โบราณสถานที่เก่าแก่ และสำคัญแห่งหนึ่งของ จ.แพร่ และอยู่ในพื้นที่ ต.ทุ่งกวาว นั่นคือ “วัดพระธาตุเจดีย์” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุไม่น้อยกว่า 400 ปี เจดีย์เก่าแก่ดังกล่าวก่อสร้างด้วยศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามศิลปะล้านนา มีความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองเมืองหริภุญชัย และเมืองเชียงใหม่แต่โบราณ

วัดพระธาตุเจดีย์ยังคงเป็นสถานที่ที่ชาวบ้าน และชุมชนให้ความเคารพนับถือ มากราบไหว้สักการะอยู่อย่างต่อเนื่อง และในช่วงฤดูหนาวประมาณปลายปี ท่านพระครูพิบูลพัฒนโกศล เจ้าอาวาสวัดโศภนาลัย จะนำพระสงฆ์สามเณรในพื้นที่ ต.ทุ่งกวาว มาทำกิจกรรมศาสนพิธีปฏิบัติธรรมเข้ารุกขมูลเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันวัดพระธาตุเจดีย์ เป็นวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา อยู่ในความดูแลของวัดโศภนาลัย ที่มีท่านพระครูพิบูลพัฒนโกศล เจ้าคณะ อ.เมืองแพร่และเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.แพร่ โดยสภาพพระธาตุเจดีย์แม้จะมีสภาพโดยรวม จะเป็นเจดีย์ที่สมบูรณ์แต่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามอายุและกาลเวลา โดยอิฐและปูนที่เป็นตัวเจดีย์เริ่มผุกร่อนหลุดร่วงลงมาเป็นจำนวนมาก


ดังนั้น ชุมชน ต.ทุ่งกวาว ซึ่งประกอบดัวย นายประกิจ สุภาผล นายก ทต.ทุ่งกวาว นายเทเวศ นามจะโปะ กำนัน ต.ทุ่งกวาว นายภุชงค์ สำรีราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งกวาว นางคำเกี้ยว เมืองเอก ประธานสภาวัฒนธรรม ต.ทุ่งกวาว นางปนัดดา สุทธิรักษ์ กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านนาแหลม พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน ต.ทุ่งกวาว จึงได้มาประชุมกันที่ ทต.ทุ่งกวาว เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์พระธาตุเจดีย์ดังกล่าว ให้คงอยู่คู่กับท้องถิ่นตลอดไป จึงเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะมีการจัดเสวนาประชาคมร่วมกัน ของทุกภาคของชุมชนของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งภาคประชาสังคมใน ต.ทุ่งกวาว โดยฝ่ายปกครองท้องที่นำโดย นายเทเวศ นามจะโปะ กำนัน ต.ทุ่งกวาว ได้นำเรียนแจ้งให้ นายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นอภ.เมืองแพร่ได้รับทราบ และ นอภ.เมืองแพร่ ได้ลงมาดูในพื้นที่ด้วยความเป็นห่วง ต่อสภาพความชำรุดทรุดโทรมของพระธาตุเจดีย์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ในเวทีเสวนาของประชาคมผู้เกี่ยวข้องครั้งนี้ มีนายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นอภ.เมืองแพร่ เป็นประธาน ผู้ร่วมเวทีประชาคมประกอบด้วย นายประกิจ สุภาผล นายก ทต.ทุ่งกวาว นายเทเวศ นามจะโปะ กำนัน ต.ทุ่งกวาว นายภุชงค์ สำรีราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 นางคำเกี้ยว เมืองเอก ประธานสภาวัฒนธรรม ต.ทุ่งกวาว นายอนุสรณ์ พรมรังกา ผอ.ร.ร.รัฐราษฎร์บำรุง และรักษาการในตำแหน่ง ผอ.ร.ร.บ้านาแหลม นางปนัดดา สุทธิรักษ์ กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านนาแหลม พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน ต.ทุ่งกวาว ผู้บริหาร ทต.ทุ่งกวาว สมาชิกสภาและ ส่วนราชการในพื้นที่ ประกอบด้วย น.ส.กนิษฐ์ฎา ฐานะวุฒิกุล รอง ผอ.สพป.แพร่ เขต 1 นางศรีประภา ปัทมาภรณ์พงศ์ ผอ.รพ.สต.ทุ่งกวาว อ.พัชราภรณ์ พันธุรัตน์ธาดา อดีตครูเชี่ยวชาญโรงเรียนนารัตน์ จ.แพร่


ภาคส่วนเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม จ.แพร่ และภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายวิทยา ขันทะยศ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักศิลปากร ที่ 7 เชียงใหม่ นายปาณสิน สองแค ที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.แพร่ นายติราช นาถบุญโญฤทธิ์ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ นายชยพล สีงาม นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.แพร่

จากการชี้แจงของเจ้าจากสำนักศิลปากร และสำนักงานพระพุทธศาสนาจ.แพร่ ว่า พระธาตุเจดีย์เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่จำเป็นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามอายุการก่อสร้างและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยการขึ้นทะเบียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการคุ้มครองและรักษาโบราณสถานดังกล่าวไว้ และจะได้รับการดูแลตามหลักวิชาการ และจะได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากรในการบูรณะปฏิสังขรณ์ แม้เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรแล้ว ท้องถิ่นชุมชนก็ยังสามารถประกอบกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมอื่นได้ตามปกติเหมือนที่ผ่านมา


เพียงแต่หากดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์และวิหาร จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากรก่อน เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักการอนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ศิลปากรได้ชื่นชมท้องที่และชุมชนที่ได้ดูแลเอาใจใส่ต่อพระธาตุเจดีย์และพระวิหารด้วยดีมาตลอด ทำให้โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยที่เวทีเสวนาทุกฝ่ายได้มีความเห็นพ้องร่วมกันว่า สมควรให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง

โดยจะมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะส่วนพระธาตุเจดีย์ และบริเวณวิหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในส่วนที่เป็นโบราณสถานอีกครั้ง โดยกรมศิลปากรก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจ ณ พื้นที่จริงอีกครั้ง โดยมีหลักการว่า ในบริเวณวัดพระธาตุเจย์ที่นอกเขตพื้นที่ ที่ขึ้นทะเบียน(แบบจำกัดพื้นที่) ชุมชนก็ยังสามารถก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นศาสนสถานที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์แต่อย่างใด และชุมชนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรรอบ ๆ บริเวณวัดก็ยังสามารถใช้พื้นที่เป็นที่พักร้อนชั่วคราวได้เหมือนเดิม โดย นายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นอภ.เมืองแพร่ ได้กล่าวไว้ว่า พระธาตุเจดีย์ ณ พื้นที่ ต.ทุ่งกวาว เป็นการอนุรักษ์โบราณสถานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และจะเกิดขึ้นแบบยั่งยืน การเสาวนาในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอนุรักษ์โบราณสถาน ที่มีคุณค่ายิ่งของชาติให้คงอยู่คู่ท้องถิ่น ต.ทุ่งกวาว คู่ จ.แพร่ และคู่ประเทศไทยตลอดไป


ประวัติวัดพระธาตุเจดีย์ จากบทความไปจังหวัดแพร่แวะดูวัดพระธาตุเจดีย์ ที่นี่ไม่มีพระจำวัด โดย สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.2544 เขียนไว้ว่า วัดพระธาตุเจดีย์ บ้านนาแหลม พระโกศัยธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดทุ่งกวาว ในขณะนั้นปัจจุบัน คือ พระราชวิสุทธี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดแพร่ หรือหลวงปู่ ก๋วนได้เล่าว่าวัดพระธาตุเจดีย์ไม่ปรากฏหลักฐานใครผู้สร้าง สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในนาแหลมก็เห็นมาตั้งแต่เด็กในสภาพรกร้าง มีสิ่งก่อสร้างปรักหักพังมานาน คาดเดาจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ หนังสือของไทยล้านนาที่ได้แสดงลักษณะของพระธาตุไว้วัดพระธาตุเจดีย์ สร้างมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 โดยสันนิษฐานจากลักษณะของพระธาตุ ยุคนั้นเมืองแพร่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทางลำพูน เชียงใหม่ในสมัยพระนางจามเทวี

วัดพระธาตุเจดีย์พบว่า มีการก่อสร้างไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีเจดีย์ อุโบสถ และพัทธสีมาครบถ้วน บ่งบอกว่าชุมชนในอดีตแถวนี้ต้องหนาแน่น และมีความเจริญเป็นชุมชนที่มีกำลังทรัพย์ ไม่งั้นไม่สามารถสร้างวัดได้และบริเวณโดยรอบต้องมีหมู่บ้านเรียงรายกันไป เพราะมีการพบซากวัดเก่าแก่อีก 2 วัด คือ วัดป่าสูงและวัดผกาเสนโด ชื่อวัดทั้ง 2 เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบัน ส่วนชื่อเดิมของวัดไม่ปรากฏเพราะหาหลักฐานไม่พบ คาดการล่มสลายของหมู่บ้าน และวัดน่าจะเกิดจากเหตุการณ์สงครามช้างเผือกในปีพ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองรบชนะไทยแล้วกวาดต้อนชาวบ้าน เชลยศึก หมู่บ้านวัดวาอารมถูกเผาวอดวาย หลังสงครามสงบจึงเกิดชุมชนขึ้นมาใหม่ ตั้งห่างจากหมู่บ้านเดิมมาทางทิศใต้ เรียกหมู่บ้านนาแหลมและอีกกลุ่มตั้งทางทิศตะวันตกเรียกหมู่บ้านทุ่งกวาว ชาวบ้านมีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมาแต่ไม่มีพัทธสีมา ดังนั้น การประกอบกิจทางศาสนาก็ยังอาศัยวัดพระธาตุเจดีย์ประกอบสังฆกรรม เพราะวัดเป็นวัดที่สมบูรณ์ครบถ้วน มีการบูรณะดูแลเรื่อยมา


ต่อมาปี พ.ศ.2480 วัดทุ่งกวาวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้ประกอบสังฆกรรมได้ วัดพระธาตุเจดีย์จึงถูกทิ้งร้าง ขาดการเอาใจใส่ ชำรุดทรุดโทรมไปตามการเวลาจนถึงปัจุจบัน อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ 2530 ปีท่องเที่ยวไทย หลวงปู่ก๋วนและคณะศรัทธาชาวตำบลทุ่งกวาว ได้ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ และอุโบสถที่ปรักหักพังถวายเป็นพระราชกุศลให้กับในหลวง ร.9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 5 รอบ

โดยได้จัดทำยอดฉัตรเจดีย์เป็นรูปฉัตร 7 ชั้น เรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่นเพื่อเป็นสิริมงคล ชั้นที่ 1 หมอกมุงเมือง ชั้นที่ 2 รุ่งเรืองทั่วฟ้า ชั้นที่ 3 ฝูงไพร่ฟ้าจื้นจม ชั้นที่ 4 สุขเกษมศานต์ทั่วหน้า ชั้นที่ 5 มั่งมูลดก ชั้นที่ 6 สุขเสถียรจีระมาศ ชั้นที่ 7 ประชาราษฏร์ยินดี นายภุชงค์ สำลีราช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านนาแหลม กล่าวว่า เมื่อคนได้มารับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาแหลมหมู่ 6 เห็นว่าที่ในหมู่บ้านมีพระธาตุเจดีย์เก่าแก่ เป็นโบรารณสถาน เมื่อก่อนนี้นั้นบรรพบุรุษได้มีพิธีกรรม เข้ารุกขมูล ทำบุญไหว้พระธาตุเจดีย์ มาในระยะช่วงหลัง หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีประเพณีไหว้พระธาตุเจดีย์นาแหลม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ได้จัดงานไหว้พระธาตุและห่มผ้าพระธาตุเจดีย์อีกครั้ง ส่วน ปี 2564 ปีหน้างานไหว้พระธาตุเจดีย์คงจะมีขึ้นอีกและคงจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น