หอการค้าร่วมมือ ! ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมหลายท่าน อาทิ นายกิตติ์ธเนศ ศรีสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่, นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ, รศ.ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายรตนภูมิ โนสุ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1, นายสุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2, นายเจษฎา ก้องสาคร ผู้แทน ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3, นายนิคม กีรติวรางกรู ผู้แทน ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4, นายพัฒนพงศ์ พวงทอง ผู้แทน ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5, นายณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านพระนอน, น.ส.สายพิน สุคันธา ผู้แทน ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, นายนพดล โป่งอ้าย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่, น.ส.สุธิดา แซ่เตี๋ยว ผู้จัดการ เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์, น.ส.ชิดชนก ชูเจริญกาญจน์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ให้เกียรติเข้าร่วมประชุม

จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ประกาศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยให้อำนาจแก่สถานศึกษาในการบริหารงานได้อย่างอิสระ และจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบท และความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสามารถพัฒนาผู้เรียน ให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการศึกษาที่กำหนดไว้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่ นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำสาระสำคัญ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ 2562-2568) เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

วัตถุประสงค์จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อ

  1. คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
  2. ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
  3. กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษา นำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  4. สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ 2562-2568) วิสัยทัศน์ การศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับโอกาสทางการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ “เชียงใหม่นครแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษา” พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่จะใช้ พ.ร.บ.นี้ เป็นเครื่องมือหรือตัวช่วย ทำให้ความมุ่งหวังของภาคีเชียงใหม่ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น