องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เชียงใหม่

วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.45 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ตําบลแม่วิน อําเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อ พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก มีพระราชดำริให้โครงการหลวงและศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาร่วมกันร่วมกันเข้าพัฒนาในพื้นที่ ต่อมาได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรอีก 3 ครั้ง กระทั่งใน พ.ศ. 2528 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเป็นครั้งที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางขึ้น เป้าหมายหลักเพื่อลดพื้นที่ฝิ่น โดยส่งเสริมพืชอื่นเพื่อสร้างรายได้ทดแทน ไม่ทำให้ชาวเขาหันกลับไปทำไร่เลื่อนลอยและบุกรุกทำลายป่า โดยระยะแรกการดำเนินงานได้รับทุนอุดหนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันพื้นที่ปฏิบัติงานของโครงการหลวงขุนวางครอบคลุมเขต อ.แม่วาง และ อ.แม่แจ่ม รวม 4 หมู่บ้าน ประชากรเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ และม้ง รวม 477 ครัวเรือน 2,372 ราย ด้วยพื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 900-1,400 เมตร โครงการหลวงขุนวางจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเขตหนาวภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย รวมจำนวน 28 ชนิด ผลิตผลที่เป็นรายได้หลักในขณะนี้ ได้แก่ ผักในตระกูลสลัด กะหล่ำปลีหัวใจ บร็อคโคลี่ อะโวคาโด เสาวรส สตรอวเบอร์รี ชา เห็ดปุยฝ้าย เห็ดหอม และกลุ่มไม้ดอก ได้แก่ เบญจมาศ และคาร์เนชั่น เป็นต้น

ในด้านสังคม โครงการหลวงขุนวางได้ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มออมทรัพย์ พัฒนาเยาวชนและเกษตรกรผู้นำรุ่นใหม่ ส่งเสริมการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น หัตถกรรมชนเผ่าเป็นอาชีพเสริม ร่วมบูรณาการกับหน่ายงานในพื้นที่ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ดำเนินโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ และพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำ บ่อพักน้ำและระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตรกรเพื่อใช้ในฤดูแล้ง หลังเสร็จสิ้นการประชุมองคมนตรีได้เยี่ยมชมแปลงวิจัยมะเขือเทศโครงการหลวงด้วยระบบปลูกในวัสดุปลูกแบบไม่ใช้ดิน หรือ Substrate Culture เพื่อลดปัญหาโรคแมลงที่เกิดขึ้นในแปลงส่งเสริมเกษตรกรขณะนี้ พร้อมนี้ องคมนตรีได้พูดคุยกับกลุ่มอนุรักษ์ผ้าทอชนเผ่า และยุวเกษตรกรโครงการหลวง ผู้ได้รับทุนฝึกปฏิบัติงานการเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องด้วยโครงการหลวงมีเป้าหมายส่งเสริมให้เยาวชนชาวเขาได้ออกไปศึกษาเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์ยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนำวิชาความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน เป็นไปตามแนวทางพระราชทาน คือ ช่วยเขาให้ช่วยตนเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น