คาดปลายปีเลือกตั้ง อบจ. ปั่นกระแสเคาะลงคะแนน ช่วง ธ.ค. 63

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ทยอยเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา การแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)  อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. นี้ พร้อมกับการประกาศระเบียบการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด 9 ฉบับ อาทิ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดยานพาหนะโดยหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 สำหรับรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.)4 ระดับ ประกอบด้วย อบจ. 76 แห่ง, องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,310 แห่ง เทศบาล 2,464 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลตำบล 2,224 แห่ง เทศบาลเมือง 190 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง, อปท.รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ข้อมูลประชากร (ใช้ฐานวันที่ 31 ธ.ค.2562 )จะอยู่ที่ 66,558,935 คน จาก 76 จังหวัด 878  อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,086 หมู่บ้าน ส่วนกรุงเทพ มีประชากรตามทะเบียนราษฎรมากที่สุดอยู่ที่ 5,666,264 คน

ทั้งนี้กรรมการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย และอดีตผู้บริหารท้องถิ่น (อบจ. ) ในภาคเหนือแสดงความเห็นว่า ทั้งกระทรวงมหาดไทย (มท.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงพยายามเร่งเตรียมความพร้อมในงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งด้านงบ การจัดแบ่งเขตเลือกตั้ง

” เพราะสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องมุ่งไปที่มาตรการ ป้องกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านนั้น โดยมี อปท. ทั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ. เป็นกลไกดำเนินการ ผ่านรูปแบบความช่วยเหลือต่าง ๆ จนทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของ อปท.ใช้จ่ายงบ จนต้องมีคำสั่งเร่งด่วน ให้ ทุกอปท. สำรวจการตั้งงบประมาณ ไว้รองรับการเลือกตั้งแล้วโอนงบส่วนนี้ไปสำรองจ่าย เพื่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 บางแห่งใช้จนหมด ต้องของบมาสนับสนุนเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ก็มี ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐซึ่ง อปท. ได้รับจัดสรรเพื่อพัฒนา จัดทำโครงสร้างพื้นฐาน มีสัดส่วนลดลง อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องเลือกเฉพาะรูปแบบ จาก 4 แบบ ซึ่งคาดการณ์กันว่า กลุ่ม อบจ. น่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะต้องจัดเลือกตั้งในช่วงปลายพ.ย. ถึงต้น ธ.ค.นี้ “ส่วนที่มีการเผยแพร่ว่า เลือกตั้ง อบจ. จะมีขึ้นในวันที่ 13  หรื อ14 ธ.ค. 2563 นั้น ยังไม่แน่ชัด น่าจะเป็นการปั่นกระแส ต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งอีกครั้ง ”

ด้านนักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยดังในเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันไม่มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อปท.บางแห่งอาจยาวนานถึง 7-9 ปีก็มี เพราะเมื่อครบวาระแล้วไม่ได้เลือกตั้ง แต่ประกาศและคำสั่ง คสช.ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลาง  ๆ ซึ่งทั้ง 7,852 อปท.ครบวาระกันหมดแล้ว

“ผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ จะเป็นช่วงรอยต่อที่เปิดโอกาสให้จัดทำงบประมาณปี 2564 จากนั้น ก็น่าจะเข้าสู่ขั้นตอน ประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลให้ทุุุุุุุุุุุุุุุุุุกผู้บริหารและสมาชิกสภา สิ้นสภาพทั้ง 7,852 แห่ง แม้จะดีตรงที่อาจจะ
เลือกพร้อม ๆ กันได้ แต่บางจังหวัดมีความทับซ้อนกันระหว่าง อบจ. กับ รูปแบบพิเศษ แนวทางจัดการเลือกตั้งที่เหมาะสม ควรดำเนินการในส่วนของอปท.ที่มีความพร้อม จะเลือกตั้ง อบจ. และ กทม. ก่อน แล้วจึงเลือกตั้ง อบต. และ เทศบาล ก็ได้ ควรให้มีระยะเวลาเว้นช่วงห่างกัน 2-3 เดือน ซึ่งแวดวงการเมืองส่วนใหญ่ มั่นใจว่าปลายปีนี้เลือกตั้งระดับ อบจ. แน่นอน และปี 2564 ก็น่าจะเลือกในกลุ่ม เทศบาลและอบต.  อำนาจการตัดสินใจเคาะวันเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ที่รัฐบาล ตัดสินใจกำหนด และไม่มีข้ออ้าง ปัจจัยใดที่จะดึงเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปอีก เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง เป็นช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้อีกทาง ระยะนี้การเปิดตัวกลุ่มทีมการเมืองท้องถิ่นจะชัดเจน เป็นระยะ ๆ มีความถี่ในการลงพบปะ แนะนำตัว ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านมากขึ้น”

ร่วมแสดงความคิดเห็น