ศบค. ทบทวนมาตรการคุมเข้ม-มาตรการสอบสวนโรค ต้องครอบคลุมโรงแรมที่พัก ที่เป็นสถานที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

วันที่ 13 ก.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,220 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 283 ราย มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 2 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 3,090 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 72 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ยังคงเดิมที่ 58 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 63 ถึงปัจจุบันรวม 49 วันแล้ว

โฆษก ศบค. กล่าวถึง Timeline ของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 43 ปี อาชีพทหาร (ลูกเรือเครื่องบินทหาร) จากประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในวันที่ 6 ก.ค. 63 เดินทางออกจากสนามบินไคโร ประเทศอียิปต์ ไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 7 ก.ค. 63 เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปปากีสถาน 8 ก.ค. 63 เดินทางถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง 9 ก.ค. 63 ออกจากโรงแรม จังหวัดระยอง ไปท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อบินไปทำภารกิจทางทหารที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไป-กลับวันเดียวกัน กลับเข้าที่พักในโรงแรมจังหวัดระยอง 10 ก.ค. 63 ได้มีทีมเจ้าหน้าที่ CDCU เข้าคัดกรองอาการของคณะเดินทางและลูกเรือ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 31 ราย และในวันที่ 11 ก.ค. 63 คณะเดินทางออกจากประเทศไทยกลับอียิปต์ ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ชัดเจน จึงตรวจซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 12 ก.ค. 63 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ

ซึ่งที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กมีการหารือว่า ถึงแม้จะเป็นคนที่เป็นลูกเรือที่มาจากต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย ในข้อกำหนดที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา และขณะนี้มีการเปิดสายการบินหลายสาย เดิมใช้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ในครั้งนี้ได้มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จึงทำให้มาตรการของการคุมเข้มในข้อดังกล่าวต้องมีการทบทวนและปฏิบัติกันใหม่ ซึ่งโรงแรมที่จังหวัดระยองแห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ที่สัมผัสกับผู้ที่พบเชื้อ ดังนั้น มาตรการการเข้าไปสอบสวนโรคจะต้องครอบคลุมโรงแรมนี้ทั้งหมด โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกมาตรการคุมเข้มเรื่องดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบโดยละเอียด ถึงแม้ผู้ที่พบผลตรวจจะเดินทางกลับไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคจะเข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่สัมผัสที่ทางกลุ่มลูกเรือได้เดินทางไป อีกทั้งสำนักงานเขตสุขภาพจังหวัดระยองและทีมส่วนกลางจะเข้าไปร่วมสอบสวนโรคด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ ยังมี Timeline ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 9 ปี จากภูมิภาคแอฟริกา เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว (คณะทูต) โดยในวันที่ 7 ก.ค. 63 มารดานำผู้ป่วยและครอบครัว รวม 5 คน ไปตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผลตรวจทุกคนไม่พบเชื้อ เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. 63 เวลา 05.40 น. คัดกรองไม่มีอาการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจผลพบเชื้อ แต่บิดานำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีการตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ สมาชิกที่เหลือกักกันในที่พำนักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และในวันที่ 11 ก.ค. 63 ผลตรวจพบปอดอักเสบ จึงส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรายดังกล่าวอยู่ในประเภทที่ 3 คือ คณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มาปฏิบัติงานที่ประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในมาตรการข้อ 4 ให้เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าว ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งรัฐต้องกำหนดมาตรการโดยละเอียด และครอบคลุมเพราะเป็นความเสี่ยง

ร่วมแสดงความคิดเห็น