นายกฯ ลงพื้นที่โรงเรียน ตชด.บ้านหนองใหญ่ ติดตามการเรียนการสอนตามมาตรการป้องกันโควิด-19

​พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายการเปิดภาคเรียนของรัฐบาล ภายหลังมาตรการผ่อนคลายที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้ให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษาหลังเปิดเรียน อันจะส่งผลให้นักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษาปลอดภัยจากโรคโควิด-19 สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเป้าหมายเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรงเรียนชายแดน ชายขอบ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้วยเช่นกัน ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยใช้กรอบแนวทาง 6 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโรคด้วย 6 มาตรการหลัก
มิติที่ 2 การเรียนรู้ สนับสนุนสื่อความรู้ป้องกัน โรคโควิด-19 เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของเด็กตามวัยและสอดคล้องกับพัฒนาการ และสร้างความเข้มแข็งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
มิติที่ 3 การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก
มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง เตรียมแผนรองรับด้านการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนป่วย แนวปฏิบัติเพื่อลดการรังเกียจและการตีตราทางสังคม (Social stigma)
มิติที่ 5 นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่และสื่อสาร
และ มิติที่ 6 การบริหารการเงิน โดยพิจารณาการใช้งบประมาณสำหรับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นและเหมาะสม

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ มีกลไกการประเมินและติดตามประเมินผลตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังเปิดภาคเรียนร่วมกันในแต่ละโรงเรียนตามพื้นที่เขตการศึกษา และมีผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน เป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำทั้งด้านสุขอนามัยเบื้องต้นในการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ การตรวจคัดกรองสุขภาพ รวมทั้งสร้างเครือข่ายป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับโรงเรียน เป้าหมายจังหวัดละ 2 คน โดยจะรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ THAI STOP COVID กลับมายังกระทรวงสาธารณสุข และมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำกับดูแลให้โรงเรียนมีสุขอนามัยเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อให้การดำเนินงานควบคุมและป้องกันการ แพร่ระบาดของโควิด-19 มีความปลอดภัยอย่างสูงสุด ซึ่งล่าสุดมีโรงเรียนที่ได้ดำเนินการรายงานผลตอบกลับ จำนวน 20,980 แห่ง จากสถานศึกษาจำนวนทั้งหมด 38,450 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนได้ดำเนินการแล้วใน 16 จังหวัด และอยู่ระหว่างประสานความร่วมมือดำเนินการต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ทางด้าน พลตำรวจตรีปฏิพัทธิ์ สุบรรณ ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า ภายหลังจากเปิดภาคเรียนให้มีการเรียนการสอนตามปกตินั้น ทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองใหญ่ได้ดำเนินการคุมเข้มในมิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ภายใต้ 6 มาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และ อาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกฮอล์อย่างเพียงพอ 4. จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน

 

“นอกจากนี้ ที่ผ่านมาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองใหญ่ ได้ดำเนินงานตามมาตรการสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School) ทั้ง 3 ด้านคือ 1. ด้านโภชนาการ มีการกำหนดรายการอาหารโดยใช้หลักการของโปรแกรม Thai School Lunch จัดบริการอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จัดให้นักเรียนทุกคนดื่มนมสดจืดทุกวัน วันละ 2 แก้ว และมีการบูรณาการความรู้ด้านอาหารและโภชนาการเข้ากับสาระการเรียนรู้ทุกสายชั้น 2. ด้านกิจกรรม ทางกาย มีการจัดกิจกรรมทางกายสำหรับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 60 นาที อาทิ โครงการเข้มแข่งร่วมแรงออกกำลังกาย และกิจกรรมกระโดดเชือก เป็นต้น มีการบูรณาการความรู้ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้ากับสาระ การเรียนรู้ทุกสายชั้น พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกายและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน ตลอดจนสร้างการมี ส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน และ 3. ด้านการส่งเสริมทันตสุขภาพ มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวัน และผู้ปกครอง ชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนแปรงฟัน ก่อนนอน ไม่กินขนมกรุบกรอบและไม่ดื่มน้ำอัดลมเกิน 2 ครั้งต่อวัน โดยผลลัพธ์การดำเนินงานพบว่า นักเรียนที่อายุ 6-14 ปี มีภาวะการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงดีสมส่วน ร้อยละ 84.62 และมีสุขภาพฟันดีมาก ร้อยละ 100” รองผู้บัญชาการตำรวจ ตระเวนชายแดน กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น