จังหวัดลำปาง รับใบประกาศรางวัลจากยูเนสโก ในฐานะเป็นแหล่งพื้นที่สงวนชีวมณฑล

นายพูนสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง พร้อมด้วย นางทิพวรรณ เศรษฐพรรค์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ และ นายพีระเมศร์ ตื้อตันสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมเข้าพบนายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ณ ห้องปฏิบัติงาน อาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อนำใบประกาศรับรองพื้นที่สงวนชีวมลฑล “ป่าสักห้วยทาก” ของยูเนสโก มอบเป็นเกียรติประวัติให้แก่จังหวัดลำปาง ซึ่งใบประกาศดังกล่าวทางยูเนสโกได้ระบุ ประกาศรับรองว่า “พื้นที่ป่าสักห้วยทาก” ได้รับการยกสถานะให้เป็นพื้นที่ Biosphere Reserve ตั้งแต่เมื่อปี 2520

นางทิพวรรณ เศรษฐพรรค์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า สำหรับใบประกาศรับรองพื้นที่ดังกล่าวเป็นเอกสารสำเนา ที่ทางหน่วยงานรับผิดชอบได้ทำเรื่องขอเอกสารรับรองพื้นที่สงวนชีวมลฑล “ป่าสักห้วยทาก” กับทางยูเนสโกอีกครั้ง หลังพบว่าเอกสารต้นฉบับเดิมได้เกิดการสูญหาย ซึ่งได้ใช้เวลาดำเนินการยาวนานถึง 4 ปี โดยการได้รับใบประกาศรับรองครั้งนี้ถือเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทย และจังหวัดลำปาง เนื่องจากพื้นที่สงวนชีวมณฑล “ป่าสักห้วยทาก” (Huay Tak Teak Biosphere Reserve) เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นภายใต้โปรแกรม ด้านมนุษย์และชีวมณฑล (Man and the Biosphere Programme) ของยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ด้วยความโดดเด่นของพื้นที่ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์ที่ดีที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นพื้นที่แหล่งไม้สักที่มีพันธุกรรมที่ดีที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ด้วยลักษณะเด่นของลำต้นที่สูงตรง เบา ไม้สวย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานรับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พยายามแสดงให้เห็นถึงศักยภาพพื้นที่ ในการเป็นพื้นที่สาธิตทั้งด้านการสร้างการอนุรักษ์ ส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่พื้นที่อื่น ๆ ไปยังในหลายประเทศ สำหรับในส่วนกลไกในการกำกับดูแล นางทิพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่สงวนชีวมลฑล “ป่าสักห้วยทาก” ได้มีการแบ่งเขตพื้นที่ดูแลออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพื้นที่แกนกลาง หรือ Core Zone เป็นเขตพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการรักษาให้สมบูรณ์ที่สุดไม่ให้ถูกทำลาย, เขตพื้นที่ Buffer Zone เป็นเขตพื้นที่อนุโลมให้ใช้ประโยชน์ได้แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และเขตพื้นที่รอบนอก Transition Zone ที่ได้เปิดให้ชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกับป่าและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า ซึ่งในส่วนนี้ได้เน้นที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่สงวนชีวมณฑล “ป่าสักห้วยทาก” โดยเฉพาะการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของท้องถิ่น และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนในพื้นที่ ส่งเสริมความรู้เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น และรับฟังความคิดเห็นของชุมชนถึงทิศทางการพัฒนาสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความเจริญของมนุษย์ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนทั้งนี้ สำหรับพื้นที่สงวนชีวมลฑล “ป่าสักห้วยทาก” ถือเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล 1 ใน 4 ของประเทศไทย มีพื้นที่กว้างกว่า 184,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาว อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สัก ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและสวนป่าสัก ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลตั้งแต่เมื่อปี 2520 อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ร่วมแสดงความคิดเห็น