รู้หรือไม่ นอนไม่หลับ ภัยเงียบทำให้เกิดโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ

การนอนหลับเป็นการที่ร่างกายให้เวลากับตัวเอง 1 ใน 3 ของชีวิตทั้งหมดเพื่อปรับสมดุลร่างกาย รวมถึงการให้เวลากับอวัยวะภายในร่างกายได้พัก ทั้งหัวใจ หลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ น้ำย่อย ฮอร์โมน จึงถือเป็นช่วงเวลาทองในการปรับสมดุลชีวิตให้กับตัวเอง หากมีการรบกวน นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ช่วงเวลาทองที่ร่างกายต้องการปรับสมดุลก็อาจจะทำให้เกิดโรคได้ การนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการตามอายุ เด็กแรกเกิดต้องการนอนมากกว่า 10-16 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน 8-10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7-8 ชั่วโมง และวัยสูงอายุควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง
ปัจจุบันเราพบว่าการนอนไม่เพียงพอและการนอนแบบไม่ต่อเนื่องสัมพันธ์กับโรคทางกาย ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การดื้ออินซูลิน โรคเบาหวาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ช่วงเวลาทองสะดุด การฟื้นฟูร่างกายก็จะเกิดปัญหาและเกิดโรคได้ การนอนเหมือนร่างกายได้ชาร์จแบตเตอรี่ดังนั้นถ้าเรานอนหลับไม่ดีในช่วงกลางคืน จะมีผลในช่วงเวลากลางวันตามมา
ในวัยเด็ก เด็กจะไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ง่วงนอน ในวัยทำงาน ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะรู้สึกนิ่งเฉย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อาจกลายเป็นคนซึมเศร้า ในวัยสูงอายุ จะมีอาการภาวะสับสน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เราจะเห็นว่าการนอนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพการนอนหลับ และสุขภาพชีวิต

ผลกระทบจากการนอนไม่หลับ
1. นอนกรน
2. ปวดศรีษะ หรือมึนศรีษะหลังตื่นนอน
3. ตื่นนอนไม่สดชื่น
4. ความดันโลหิตสูง
5. มีความง่วงผิดปกติระหว่างวัน หรือง่วงหลับในขณะทำกิจกรรม เช่น ขับรถ นั่งประชุม
6. มีสมาธิลดลงระหว่างวัน

นอนไม่หลับ..ต้องทำอย่างไร
1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน
2. บรรยากาศในห้องควรเงียบ สงบ สบาย ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวน
3. งดการออกกำลังกายก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
4. ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
5. หลีกเลี่ยงการดูภาพยนตร์ตื่นเต้น หรือสยองขวัญก่อนนอน
6. ใช้ห้องนอนเพื่อการนอนหลับเท่านั้น
7. ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ก่อนนอน

หากทำครบทุกข้อแล้วยังนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ไม่ควรพยายามหลับตา ควรลุกจากที่นอนหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ และกลับมานอนเมื่อรู้สึกง่วงอีกครั้ง
ส่วนการทานยานอนหลับ เป็นการกลบปัญหา ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโดยตรง และโรคที่เป็นสาเหตุของการนอนหลับก็ยังอยู่ เนื่องจากยานอนหลับเป็นยาเสพติด มีฤทธิ์ทำให้ติด เมื่อติดแล้วต้องใช้ต่อ และใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนายานอนหลับให้ปลอดภัยมากขึ้น ฤทธิ์ตกค้างน้อยลงก็ตาม แต่อันตรายแฝงของยาทำให้สูญเสียโอกาสที่แพทย์จะมองหาโรคซ่อนเร้นที่เป็นเหตุทำให้นอนไม่หลับ
สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนควรให้ความสำคัญกับการนอน และการนอนที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยเวลานอนที่เพียงพอ เวลานอนที่เหมาะสม และการนอนที่มีคุณภาพ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่ให้ความสำคัญกับการนอนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย จิต และคุณภาพชีวิต

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ รายการสุขภาพดีกับหมอสวนดอก https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/286445605770112/

ข้อมูลโดย รศ.นพ.ธีรกร ธีรกิตติกุล หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจเวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ร่วมแสดงความคิดเห็น