แล้งจัด ฝนน้อย คาดไฟป่า วิกฤติ ! คาดหมอกควันเชียงใหม่ ปีหน้ารุนแรง เร่งรับมือ

เครือข่ายจัดการทรัพยากรป่าไม้ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามฐานข้อมูลป่าไม้ในเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งจังหวัด 12,566,913 ไร่ จะแบ่งเป็น ป่าสงวน 25 แห่ง เนื้อที่กว่า 12,222,396 ไร่ อุทยาน 2,835,632 ไร่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ 702,420 ไร่ พื้นที่ ส.ป.ก. 431,158 ไร่ เหลือเป็นพื้นที่ในความดูแลของป่าไม้ 8,253,186 ถ้ารวมพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานก็จะมีมากถึง 1,126,039 ไร่

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่เผชิญปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างต่อเนื่อง เข้าขั้นวิกฤติ มีการระดมสรรพกำลังจากหลาย ๆ หน่วยงาน และทุ่มงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องในบางหน่วยงานสนับสนุนวงเงินสูง แต่แก้ไขวิกฤติไม่ได้ เพราะ เน้นประชุมสัมมนาเกินไป ในขณะที่บางหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงขาดแคลนงบ จนต้องพึ่งงบบริจาคก็มี “พื้นที่เกิดไฟป่า หลายแห่ง ไม่มีเจ้าภาพดูแลชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เชียงใหม่มีสถานีควบคุมไฟป่า ภายใต้การกำกับของกรมอุทยานฯ 12 แห่งพื้นที่ราว ๆ 2 ล้านไร่ หรือเพียง 20% ของผืนป่าทั้งจังหวัด โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผืนป่าที่มีกว่า 9.7 ล้านไร่ ควรเป็นพื้นที่ดูแล จัดการของป่าไม้ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ.ป.ท.) ที่มีการโอนภารกิจดูแลไปให้ 101 อ.ป.ท จาก 211 แห่งที่มีในเชียงใหม่รวมพื้นที่ประมาณ 4.8 ล้านไร่”

เครือข่ายป่าชุมชน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ระดับนโยบายพยายามดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการดูแล ปกป้องผืนป่า มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 ซึ่งจะคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานโดยตำแหน่งทั่วประเทศ มีป่าชุมชนที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย 11,327 แห่ง จ.เชียงใหม่ มีป่าชุมชน 541 แห่ง ดูแลผืนป่ากว่า 790,492 ไร่

ในระบบการปฏิบัติงานนั้น จิตสำนึก และความร่วมมือ สามารถดำเนินงานตามแผน ปกป้อง ทรัพยากรธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการเกิดปัญหาไฟป่า ความจำเป็นที่ต้องมีงบประมาณสนับสนุนก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ที่ผ่าน ๆ มากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวนโยบายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับท้องถิ่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ป่าไม้ ที่ดิน ไฟป่า และฝุ่นควันมาอย่างต่อเนื่อง

“ปัญหาที่เกิดขึ้น สังสมมานานทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ไข รวมถึงการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านต้องร่วมแก้ด้วย เพราะแหล่งเกิดไฟป่า หลาย ๆ ครั้งอยู่นอกเขตแดนของไทย แล้วมีการเผาวัชพืช เผาป่า หมอกควันลอยมาสุมในเขตเมือง ชุมชน ในภาคเหนือ กลุ่มผู้คนที่หากินกับป่า ต้องตระหนักรู้ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิม ในการเผาไร่ เตรียมแปลงเพาะปลูก กับรูปแบบเมืองที่เจริญเติบโตไป ต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากหมอกควันไฟ ที่เผาหลาย ๆ จุดพร้อม ๆ กันมาร่วมในช่วงลมพัดพาก็สร้างปัญหาต่อวิกฤติหมอกควันพิษสุมเมืองได้อย่างแสนสาหัส ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ภาคการท่องเที่ยว นานหลายปี”

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเสริมศักยภาพชุมชน และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าภาคเหนือ รายงานผลศึกษา ติดตามปัญหานี้มายาวนาน พบว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาไฟป่า ยึดโยงกับกลไกระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งพิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่ได้ผล

ดังนั้นทางเลือกทางรอด ในฤดูฝนนี้ เพื่อเตรียมการรับมือฤดูไฟป่า หมอกควันปีหน้า ที่คาดว่าจะรุนแรง เพราะปีนี้แล้งจัด ฝนน้อย ทิ้งช่วงนาน ต้องเชื่อมั่นกลไก ส่วนท้องถิ่น ที่จะมี อปท. แต่ละแห่งในพื้นที่มีผืนป่า ในเขตปกครอง โดยเฉพาะพื้นที่สุญญากาศ ที่ไม่มีหน่วยงานใด เข้าไปดูแลชัดเจน ต้องแก้ และสนับสนุนงบให้ชุมชน ดูแลป่าจัดการไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อปท. ไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล ต้องประสานงานกับป่าไม้ซึ่งต้องระบุชัดว่า การถ่ายโอนภารกิจ ให้ท้องถิ่นจะเป็นไปในแบบใด ไม่คลุมเครือในบริบทพื้นที่ ดูแล รับผิดชอบ เพื่อให้ อปท. สามารถตั้งงบและทำแผนภายใต้งบของ อปท.ได้ ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมาย “ที่สำคัญต้องให้ สตง. มาชี้แนะแนวทางงจัดทำเป็น “คู่มือ” ออกมาว่า งบแบบไหน ใช้ได้และใช้ไม่ได้ ในกิจกรรมจัดการไฟป่า ในพื้นที่ของ “กรมป่าไม้” และ “กรมอุทยาน” ภายในสิงหาคม 2563 นี้ เพื่อให้มีงบประมาณรองรับในปีหน้า อย่างถูกต้องชัดเจน เหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่เผชิญ วิกฤติหมอกควัน ไฟป่า แต่ละอำเภอของเชียงใหม่ ไม่เช่นนั้น ภาวะแล้งจัดปีนี้ ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อสถานการณ์ หมอกควันไฟป่าที่เลวร้ายอีกครั้ง ซึ่งชาวเชียงใหม่ทุกคนไม่อยากเผชิญวิกฤติไฟป่าหมอกควันซ้ำซาก ๆ อีก”

คณะทำงานป่าชุมชน ภาคเหนือ ระบุว่า การทำไร่เลื่อนลอย การเผาป่า เป็นวิถีชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิถีถิ่นแต่ละขอบป่า เพื่อให้การแก้ปัญหาถูกต้อง จะไปออกกฎ บังคับ ขู่ปราม ไม่ใช่คำตอบ ใจเขาใจเรา ต้องร่วมกันแก้ปัญหา สร้างข้อตกลง รับฟังความเห็นแต่ละหมู่บ้านควรมีการจัดการร่วมกับ ภาครัฐ แบ่งพื้นที่ป่าให้ชัดเจน ที่สวน ที่นา พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ลงพื้นที่จริง อย่าแค่พูดคุยในเวทีประชุมสัมมนา เพราะสุดท้ายก็จะเกิดปัญหาวนเวียนแบบนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น