ค้านผันน้ำสาละวินสู่เจ้าพระยา

กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันจัดมหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครบรอบ 10 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 53 ยื่นหนังสือถึง รมว.ทรัพย์ฯคัดค้าน แนวคิดโครงการผันน้ำสาละวินลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ขยายกำหนดระยะเวลาสำรวจการครอบครองที่ดินจาก 240 วัน ออกไปอีก

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 นายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานการจัดโครงการมหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครบรอง 10 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ และชนเผ่ากะเหรี่ยงจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ และจังหวัดเพชรบุรี ส่วนราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮองสอน เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 450 คน โดยมี นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.แม่อ่องสอน , นายปัญญา จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ให้การต้อนรับ

โดยกิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้น เนื่องจากเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามที่กระทรวงวัฒนธารรมเสนอ เพื่อรณรงค์ผลักดันการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาติพันธุ์อื่น ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบทั้งจังหวัด พร้อมการนำเสนอรูปธรรมการจัดการในชุมชน ด้านการศึกษา การจัดการทรัพยากร วัฒนธรรม สถานะและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่ทางวัฒนธรรม ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการในช่วงที่ผ่าน รณรงค์ให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นที่รับทราบต่อสาธารณะ และผลักกันให้มีมาตรการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมนำเสนอปัญหาและอุปสรรคไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย ตลอดจนผลักดันฟื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่ต้นแบบทั้งจังหวัด

นายอุดม ก่อนแสงวิจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน / ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำกลุ่มชาติพันธุ์ อ่านปฏิญญาแม่ฮ่องสอน ว่าด้วยการสืบทอดภูมิปัญญาระบบไร่หมุนเวียนและการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ว่า พวกเราขอยืนยันว่าจะยังดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียนเป็นการใช้วิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน และขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 53 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยการเพิกถอนฟื้นที่ป่าของรัฐออกจากชุมชนดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว การสร้างความเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียน การยุติการคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี ยึดพื้นที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง การผลักดันให้มีการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ และการผลักดันให้ไร่หมุนเวียนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อไป


นายอุดม ก่อนแสงวิจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ อ.ขุนยวม จ.แม่อ่องสอน / ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้มีหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทำการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตรอบแปลงที่ดินบนแผนที่ให้ตรงกับข้อเท็จจริงโดยดำเนินการร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในอนาคต , ให้พิจารณาขยายกำหนดระยะเวลาสำรวจการครอบครองที่ดินจาก 240 วัน ออกไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีอำนาจสำรวจหรือแก้ไขความผิดพลาดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อสำรวจการครอบครองที่ดินให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ของบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญญาติไทยด้วย


จากนั้นได้มีกลุ่มเครือข่าย 3 องค์กร ได้ยื่นหนังสือ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านผู้ช่วยรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมยและสาละวิน ขอคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก เนื่องจากชุมชนเกรงว่าแนวคิดโครงการผันน้ำสาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาของกรมชลประทานจะเกิดการสูญเสียที่ดินทำกินและน้ำท่วมที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน

นายพงศ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชุมชนบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิชาวบ้าน บ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดินที่เป็นชุมชนดั้งเดิมตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ได้รับสิทธิกลับไปยังพื้นที่บรรพบุรุษเดิม ขอให้มีการเพิกถอนการดำเนินคดีต่อชาวบ้านทั้ง 4 ราย โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น