ผ่อนปรนต่างด้าว ต่างชาติ ทัวร์เข้าไทย หวั่นการ์ดตก โควิด-19 รอบใหม่ปะทุ แบบประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีคำสั่งที่ 8/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 7 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อ 31 ก.ค. 2563

โดยสรุป ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ในมาตรการ 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น จะมีมาตรการผ่อนปรนจัดกิจกรรมรวมกลุ่มได้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด เปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรม เพิ่มเติม เช่น การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ สถานที่ใช้เครื่องเล่นเป่าลม หรือเครื่องเล่นลักษณะเดียวกัน ให้ผู้ว่าราชการ กทม. และทุกจังหวัดมีอำนาจพิจารณา สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา ฯลฯ เปิดดำเนินการรวมถึงมาตรการ กำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้ คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อรองรับการเดินทางของบุคคลที่จะเข้าราชอาณาจักร เป็นต้น

ทั้งนี้จากการสอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจ กิจการท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม ในเชียงใหม่ พบว่า ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการผ่อนคลาย ให้ต่างชาติ ต่างด้าวเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาแรงงานทั่วไปในภาคการก่อสร้างการเกษตรทั่วไปที่ขาดแคลน

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รายงานข้อมูลเฝ้าระวังทั่วโลก 2 ส.ค. 2563 เวลา 09.30 น. พบผู้ป่วยยืนยัน 18,011,866 ราย กลับบ้านแล้ว 11,326,234 ราย ยังรักษาใน รพ. 5,996,949 ราย และเสียชีวิต 688,683 ราย ซึ่งสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยโควิด-19 อันดับ 1 โดยติดเชื้อ 4,620,239 ราย รักษาหาย 1,461,885 ราย เสียชีวิต 154,360 คน

 

ล่าสุดมีรายงานจากเพจ สถานทูตไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียดการส่งคนไทยในสหรัฐอเมริกากลับประเทศไทย ช่วงเดือน ส.ค. นี้ 15 เที่ยวบิน จำนวน 2,200 คน จากยอดแสดงความประสงค์ 4,412 คน ประกอบด้วย 4 ส.ค. 2563 เอเชียน่า 200 คน, 8 ส.ค. 2563 โกเรียน แอร์ 200 คน, 11 ส.ค. 2563 คาเธ่ย์ แปซิฟิค 100 คน และ อีวีเอ แอร์ 100 คน, 14 ส.ค. 2563 เอเชียน่า 200 คน, 16 ส.ค. 2563 คาเธ่ย์ แปซิฟิค 100 คน และ อีวีเอ แอร์ 100 คน, 18 ส.ค. 2563 เจแปน แอร์ไชน์/อเมริกัน แอร์ไลน์ 100 คน, 19 ส.ค. 2563 โกเรียน แอร์ 100 คน, 21 ส.ค. 2563 เอเชียน่า 200 คน, 23 ส.ค. 2563 กาตาร์ แอร์เวย์ 200 คน, 25 ส.ค. 2563 เจแปน แอร์ไลน์/อเมริกันแอร์ไลน์ 200 คน, 27 ส.ค. 2563 โกเรียน แอร์ 50 คน และ คาเธ่ย์ แปซิฟิค 150 คน และ 31 ส.ค. 2563 โกเรียน แอร์ 200 คน

 

ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส นครชิคาโก และนครนิวยอร์กได้ส่งอีเมลแจ้งผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เดินทางกลับประเทศไทย ตามลำดับ การลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางกลับไทยศูนย์บริหารโควิด-19 แจ้งว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน หรือกักตัว 14 วัน ตามมาตรการ และในการเดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ ว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง และผู้เข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นคนไทย นักท่องเที่ยว คนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักกันให้เป็นไปตามข้อกำหนด หลักเกณฑ์ด้านสาธารณสุข การควบคุมเชื้อโควิด-19 ตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าว ได้รับการเปิดเผยจากประชาชนคนไทย จำนวนมาก แสดงความคิดเห็นว่า มาตรการผ่อนปรนฉบับนี้ ทำให้เกิดความกังวล เพราะยังไม่จำเป็นที่ต้องปล่อยต่างด้าว ต่างชาติเข้ามา ตามอำเภอใจ แม้จะมีเงื่อนไข การตกลงบันทึกการจ้างงานและกรมธรรม์ที่ต้องมีวงเงินคุ้มครองกรณีการเจ็บป่วยจากสาเหตุโรคนี้ ในวงเงินตามที่กำหนดก็ตาม

“เพราะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนามก็น่าจะเป็นบทเรียน ให้ไทยได้ถึงการระบาดรอบใหม่ สร้างผลกระทบมากมายเพียงใด แม้กระทั่ง กัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ ก็ยังไม่คลายล็อคขนาดนี้ ส่วนประเด็นที่ไทยได้รับการยกย่องว่าจัดการโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก นั้นเห็นด้วย แต่หากนำมาตรการกักกัน 14 วันที่หลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย ดำเนินการจะพบว่า ค่าใช้จ่าย เป็นส่วนที่ ผู้กักกัน เข้ามาในราชอาณษจักรต้องรับผิด
ชอบ ไม่ใช่นำภาษีประชาชนไปบริหารจัดการ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทย ควรจะนำงบในจุดกักกันไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม มากกว่าเฉพาะกลุ่ม และก็เห็นกันชัดเจนทุกวันว่ามีใบตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศไทยทุกคนยืนยันว่าปลอดเชื้อเดินทางได้ แต่ก็พบคนติดเชื้อจากต่างประเทศทุกวันในสถานกักตัว ถ้าคิดจะเปิดให้คนต่างชาติเข้ามา ก็ควรเปิดเสรีให้คนในประเทศทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ก่อนดีกว่า เพราะคนในประเทศไม่มีเชื้อโควิด-19 ร่วม ๆ 1-2 เดือนแล้ว”

ร่วมแสดงความคิดเห็น