เชียงใหม่สวรรค์แรงงานข้ามชาติ พบกว่าแสนราย ปักหลักทำงาน สร้างโอกาสในชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ระบุสถานการณ์แรงงานต่างด้าวล่าสุด (มิ.ย. 2563) มีต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรจำนวน 2,459,785 คน
โดยจำแนกเป็นต่างด้าวตามมาตรา 59 ประเภท ทั่วไปเข้ามาในไทยชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองไม่ใช่นักท่องเที่ยว และประเภทพิสูจน์สัญชาติ (เมียนมา, ลาว และกัมพูชา) นำเข้าตามข้อตกลง กลุ่มนี้จะมีมากถึง 2.2 ล้านคน ไม่นับรวมกลุ่มอื่น หรือแม้แต่แรงงานไปกลับ ตามแนวชายแดนตามฤดูกาลที่ยังรอการเปิดด่าน อนุญาตเข้ามา

สำหรับแรงงานต่างด้าว จำแนกตามลักษณะเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตทำงานในภาคเหนือมีราว ๆ 194,098 คน มากสุดในกรุงเทพกว่า 500,000 คน และภาคใต้ กว่า 300,000 คน ทั้งนี้พบว่าเชียงใหม่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวมากสุด 101,661 คน (เป็นชาย 51,430 คน หญิง 50,231 คน) จำแนกเป็น แรงงานทั่วไป 7,525 คน นำเข้าตามข้อตกลงจ้างแรงงาน 5,300 คน และตามมติครม. 20 ส.ค. 2562 อีกราว ๆ 73,086 คน ส่งเสริมการลงทุน 725 คนและชนกลุ่มน้อย 17,771 คน

กลุ่มแรงงานสัมพันธ์ 3 สัญชาติ ภาคเหนือ กล่าวว่า จากข้อมูลแรงงานเมียนมา, ลาว และกัมพูชา เฉพาะในภาคเหนือ 8 จังหวัดนั้น พบว่า เชียงใหม่ เป็นเป้าหมายที่แรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติต้องการเดินทางมาทำงานมากที่สุด ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ก็มีไม่มาก เช่น ลำพูน มีราว ๆ 10,831 คน, เชียงราย 14,560 คน จะเป็นแรงงานในภาคการเกษตร, รับจ้างทั่วไป และก่อสร้าง

ด้านกลุ่มแรงงานไทใหญ่ ในเชียงใหม่ ซึ่งถือหนังสือเดินทางเมียนมา กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะมีญาติ ๆ บุกเบิกมาทำงาน แล้วติดต่อญาติพี่น้องเดินทางเข้ามา แม้ว่าเมืองที่เป็นภูมิลำเนาจะมีการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว แต่รายได้และโอกาสสู้เชียงใหม่ไม่ได้”เลานูน” สาวไตใหญ่ จากเชียงตุง รัฐฉาน วัย 22 ปี เล่าว่า มีพี่สาวมาทำงานในร้านอาหารและได้สามีเป็นคนหางดง จ.เชียงใหม่ ทำงานรับเหมา นานหลายปี จนกระทั่งพี่สาวชักชวนตนและคนในหมู่บ้านเดินทางมาช่วยงานที่เชียงใหม่ รับงานก่อสร้าง

 

ผู้ประสานงานแรงงานข้ามชาติเมียนมา ในเชียงใหม่ กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งไทใหญ่ และเมียนมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็คือกลุ่มคนที่คนเมืองเหมารวมเรียกต่างด้าว ที่เดินทางมาทำงานในเชียงใหม่ ต่างยอมรับว่ารายได้ดี คนเมือง (ชาวเชียงใหม่) น้ำใจดี ไม่ค่อยมีปัญหา และค่าครองชีพ กับค่าจ้างที่ได้ หากประหยัด ก็มีเงินเหลือเก็บส่งทางบ้านได้

 

 

นอกจากนั้นแหล่งที่อยู่ มีพืชผักแหล่งอาหารตามที่รกร้าง แหล่งน้ำสาธารณะ สามารถเก็บผัก จับปลา หรือได้รับการแบ่งปันจากชาวบ้านที่เข้าไปเช่าบ้านพักอาศัยกันอยู่ โดยแรงงานก่อสร้าง จะปักหลักเป็นกลุ่ม ๆ ที่ หางดง, สันทราย และแม่ริม ส่วนภาคการเกษตรจะอยู่แถว เชียงดาว, ฝาง, ไชยปราการ และป่าซาง ลำพูน

“แรงงานต่างด้าว มีทั้งรับจ้างรายวัน รับเหมางาน กลุ่มที่มาหลัง ๆ จะได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากกลุ่มที่มาบุกเบิกส่งงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพราะถือว่า มาตายดาบหน้า ต่างบ้านต่างเมืองต้องขยัน ซึ่งนายจ้าง ส่วนใหญ่จะชอบแรงงานกลุ่มนี้ ไม่ค่อยเกี่ยง เลือกงาน ส่วนประเด็นแรงงานข้ามชาติที่ไปก่อปัญหา ส่วนหนึ่งจะเป็นรุ่นลูกหลานที่เกิดในไทย ก็เลยมีความคิดแบบคนในพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่สภาพสังคมในไทยยังมองแรงงานต่างด้าว เป็นพลเมืองชั้น 2 ของชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง มองว่ามาแย่งงาน แย่งโอกาส ที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าว เกิดในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเรียนตามสถานศึกษาในชุมชน ตามโรงเรียนเทศบาล และเป็นกลุ่มที่ผู้ปกครองพยายามวางรากฐาน ให้ในเชียงใหม่ มากกว่าจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น