ชาวสวนภาคเหนือ โค่นลำไย ปลูกทุเรียน ผลพวงปีนี้ทุเรียนราคาดี ทำเงิน หวั่นอนาคตผลผลิตล้นตลาด

กลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย ภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า จากการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันระหว่างชาวสวนลำไย จ.ลำพูน-เชียงใหม่ กับชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ได้รับรู้ภาวะตลาดทุเรียนในภาคใต้ปีนี้ มีผลผลิตมากกว่า 4-5 แสน ราคาหน้าสวนเทียบกับปีที่ผ่านสูงเฉลี่ย 40-50 บาท/กก. มูลค่าทั้งในฤดู และนอกฤดูสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท

“ปกติ ราคาหน้าสวน 50-70 บาท/กก. ถือว่าดี ชาวสวนพอใจ แม้ปีนี้ผลผลิตจะได้รับผลกระทบจากฝนและโรคพืช ทำให้คุณภาพอยู่ในเกรดที่ตั้งราคาสูงมากไม่ได้ แต่ความเข้มแข็งของเครือข่ายชาวสวนทุเรียนทางภาคใต้ ภาคตะวันออก ที่มองภาวะตลาดมีความต้องการบริโภคสูงทั้งในประเทศและส่งออก จึงทำให้ราคาค่อนข้างดี”

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปี 2562 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 980,000 ไร่ ใน 40-50 จังหวัด และปี 2563 ปลูกเพิ่มกว่า 1 ล้านไร่ พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มากที่สุด กว่า 5 แสนไร่ โดย จ.ชุมพร ปลูกมากเป็นอันดับ 1 ประมาณ 250,000 ไร่ ผลผลิตจะออกมากสุดช่วง มิย.-กค. ส่วนทุเรียนภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ปี 2563 มีปริมาณกว่า 6 แสนตัน เพิ่มจากปีก่อน 21% สูงสุดในรอบ 10 ปี ผลผลิตจะออกตั้งแต่ ม.ค-ก.ค. และมากช่วง เม.ย. โดยช่วง ก.พ. ต้นฤดูกาลเปิดราคา 150-180 บาท/กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 120-130 บาท ส่วนใหญ่ล้งจะเหมาสวนไว้ล่วงหน้าสูงถึง 150-160 บาท ปีนี้ราคาทุเรียนสูง เพราะผลผลิตออกมาไม่พร้อมกันในแต่ละพื้นที่ ที่ออกสู่ตลาดขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นทุเรียนนอกฤดูกาล เช่น จาก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/กก.

นักวิชาการ ส่งเสริมเกษตร ศูนย์เรียนรู้เทคนิคการปลูกพืชเศรษฐกิจ เชียงใหม่ แนะนำว่า จะมองเฉพาะราคาทุเรียน ผลผลิตที่ได้สูงเพียงด้านเดียว แล้วตัดสินใจหันไปปลูกทุเรียนเสริม แซมต้นลำไย ที่ค่อย ๆ ทยอยโค่นต้นที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ลงไป ในรูปแบบขายเป็นฟืนนั้น คงต้องศึกษาตลาดให้รอบคอบ เพราะการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศในปัจจุบันสูงมาก

ผลผลิต พืชเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาค จะเปรียบเทียบเฉพาะมูลค่า รายได้ที่หมุนเวียนในระบบ จะแตกต่างกันการส่งออกลําไย ปี 2562 ไทยส่งออกลําไยและผลิตภัณฑ์ ปริมาณ 758,061 ตัน มูลค่า 30,159.45 ล้านบาท จะแบ่งเป็นลำไยสดกว่า 583,297 ตัน มูลค่า 20,810.01 ล้านบาท ลําไยอบแห้ง 164,593 ตัน มูลค่า 8,783.05 ล้านบาท ลําไยกระป๋อง 10,143 ตัน มูลค่า 561.39 ล้านบาท และลําไยแช่แข็ง 29 ตัน มูลค่า 5.01 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน สัดส่วน 73.6% และเวียดนาม 16.9%

ปี 2563 ข้อมูล บิ๊กดาต้า ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีจำนวนครัวเรือน 110,164 ครัวเรือน ปลูกลำไย
เนื้อที่ยืนต้น 725,759 ไร่ ให้ผล 696,533 ไร่ ลำไยสดมูลค่าราว ๆ 5,194 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 20%

สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ลำไยในประเทศปี 2563 ว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกลำไยรายใหญ่ของโลกช่วงปี 2558–2562 ส่งออกและผลิตภัณฑ์แปรรูปลำไยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ปี 2558 มูลค่าส่งออก 15,813 ล้านบาท ปี 2562 ส่งออก 743,024 ตัน มูลค่า 28,904 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ มูลค่าไม่น้อยกว่า 31,004 ล้านบาท จากเนื้อที่ให้ผลผลิต 1,178,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะมีเกษตรกรรายใหม่ ๆ ในแหล่งปลูกนอกแหล่งภาคเหนือตอนบน เช่น ลำพูน, เชียงใหม่ และพะเยา สนใจหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น จ.จันทบุรีและสระแก้ว รวมถึงอีกหลายแหล่ง แต่ชาวสวนเดิม ๆ จะโค่นต้น หันไปปลูกทุเรียน ซึ่งพบว่า ในเชียงใหม่มีกระจายปลูกบริเวณ อ.แม่แตง, เชียงดาว, ไชยปราการ, ฝาง และจอมทอง จังหวัดอื่นก็มีปลูกมาก เช่น อุตรดิตถ์ ที่มีชื่อเสียงก็คือ หลิน หลงลับแล ในพื้นที่ภาคเหนือทั่ว ๆ ไปปลูกทั้งหมอนทอง, ชะนี, กระดุม, พันธุ์มณี และก้านยาว บางแหล่งให้ผลผลิตแล้ว

“อย่าลืมว่า ทุเรียน ส่วนใหญ่จะเน้นขายผลสด เพื่อการบริโภค ในขณะที่ลำไยเป็นผลไม้มีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ จึงมีผลิตภัณฑ์จากลำไยที่หลากหลายทั้งเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์, สมุนไพร, ลำไยแปรรูป เครื่องสำอางค์ ตลาดส่งออกลำไยของไทยมีคู่ค้าสำคัญ ๆ ที่จีน ซึ่งเป็นประเทศหลัก และตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนที่ต้องการบริโภคลำไยสดเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับตลาดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, อินเดีย, สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย”

ชาวสวนลำไย ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ 10 กว่าไร่ ทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่ชอบรับประทาน เดิมเน้นลำไย ต่อมานำรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาจึงทำสวนแบบผสมผสาน ปลูกเงาะ, ทุเรียน, พืชผัก และสมุนไพร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มชิมรส

“ทุเรียนหมอนทอง เคยทดลองปลูกทั้งจากต้นพันธุ์ที่ซื้อมาจากสวนพรรคพวกแถวเมืองจันท์ และทดลองเพาะเมล็ดปลูก การดูแลไม่ยาก แต่ผลผลิตที่ได้ในปีแรก ๆ รสชาติ แตกต่างจากทุเรียนภาคตะวันออก เข้าใจว่าน่าจะเกี่ยวกับสภาพดิน ภูมิประเทศด้วย ซึ่งในอนาคตมั่นใจว่า หลาย ๆ แหล่งที่ปลูกทุเรียนกันมากขึ้น รวมถึงลำไย หากไม่เน้นเกษตรปราณีต เน้นคุณภาพ วงจรปัญหา ด้านราคาจะวนเวียนแบบเก่า ๆ จริง ๆ แล้ว เกรดเอเอ หรือลำไยจัมโบ้ นำมามัดปุ๊กขายราคาเฉลี่ย 38-45 บาท/กก. ถือว่าสูง เทคนิคดูแลไม่ยุ่งยากเหมือนทุเรียน ที่ต้องใส่ใจจึงจะได้ผลดี มีราคา”

ร่วมแสดงความคิดเห็น