สมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่ลำพูนรับฟังสถานการณ์แรงงานพร้อมหาแนวทางช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน(สนง.กนอ.จ.ลำพูน) หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายณรงค์ อ่อนสะอาด พร้อมด้วย พลโท อำพล ชูประทุม สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ลงพื้นที่พบประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นปัญหาการจ้างงาน และ แผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ร่วมกับจังหวัดลำพูน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด และสถานประกอบการในการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(กนอ.)ร่วมต้อนรับ

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวสรุปสถานการณ์แรงงานของจังหวัดลำพูน ว่า จังหวัดลำพูนมีผู้อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 ปี ขึ้นไป) จำนวนมากกว่า 3 แสนคน มีจำนวนผู้ว่างงาน 4,538 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.78 มีสถานประกอบการ 2,476 แห่ง ลูกจ้างรวมทั้งสิ้น 78,529 คน โดยเป็นสถานประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน เป็นส่วนใหญ่

สำหรับสถานการณ์แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นสถานประกอบกิจการหยุดชั่วคราว/เลิกจ้าง จำนวน 163 แห่ง ลูกจ้าง 40,235 คน เป็นการหยุดชั่วคราวตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน จำนวน 21 แห่ง ลูกจ้าง 269 คน หยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 119 แห่ง ลูกจ้าง 38,778 คน และเลิกจ้าง จำนวน 18 แห่ง ลูกจ้าง 1,074 คน โดยนายจ้าง/สถานประกอบการมีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในการหยุดกิจการชั่วคราวหรือเลิกจ้าง สำหรับหยุดกิจการชั่วคราวส่วนใหญ่กลับเข้าทำงานที่เดิม ส่วนสถานประกอบการที่เลิกจ้างเป็นสถานประกอบการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องประดับ เจียระไนเพชร ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากแก้ว ผลิตภัณฑ์หลอดอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องโลหะทั่วไป สาเหตุเนื่องจากผลกระทบจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าลดลง

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือนั้น ให้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ลาออก และถูกเลิกจ้างงาน จำนวนทั้งสิ้น 22,643 คน เป็นเงิน -88,620,217.60.- บาท รวมไปถึงจัดให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานรูปแบบใหม่ ตลอดจนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดลำพูนได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและแรงงานตามมาตรการของรัฐบาล รวมไปถึงมีการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานในรูปแบบใหม่ (New Normal) การฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลอดจนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น