จ.แม่ฮ่องสอน ส่งเสริมจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดให้ฟื้นกลับมาสู่ภาวะที่ดีขึ้น หลังโควิด-19 ระบาด

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ณ บริเวณสามแยกกาดนัดแม่ฮ่องสอน อ อำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวศันสนีย์ ทาสม รอง ผวจ.มส.เปิดกิจกรรม“ประชารัฐ พัฒนาเกษตรอินทรีย์ของดีวิถีแม่ฮ่องสอน” ส่งเสริมจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ฟื้นกลับมาสู่ภาวะที่ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีการแสดงชุด ‘เอกลักษณ์เกษตรเมืองแม่ฮ่องสอน’ การเดินแบบผ้าชาติพันธุ์ชุดที่ “วิจิตรพัสตรา ชนชาติพันธุ์”และการจำหน่ายสินค้า OTOP ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค. 63 นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ผลักดันและส่งเสริมช่องทางการตลาดแก่เกษตรอินทรีย์ ให้ได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยและรับรู้ถึงสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ฟื้นกลับมาสู่ภาวะที่ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และ ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่คัดสรรคุณภาพนำมาจำหน่ายภายในงาน จำนวน 30 คูหา การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจเพิ่มพันธมิตรทางการค้าเกษตรอินทรีย์ ประกวดการทำอาหารจากผักอินทรีย์ การเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ นิทรรศการแสดงผ้าชาติพันธุ์ การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นเมือง ดนตรีพื้นเมือง ทุกวันตลอดการจัดงานผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปว่า โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายการพัฒนา โรงพยาบาล โรงเรียน ร้านอาหาร รวมทั้งนักธุรกิจ และร้านค้า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นมาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคกับวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การออกจากบ้านเฉพาะเวลาที่จำเป็น การใส่ใจดูแลสุขภาพ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และในภาคอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมองหาโอกาสจากวิกฤตดังกล่าว

ทั้งนี้การจัดงาน “ประชารัฐ พัฒนาเกษตรอินทรีย์ ของดีวิถีแม่ฮ่องสอน” ในครั้งนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ผลักดันและส่งเสริมช่องทางการตลาดแก่เกษตรอินทรีย์ ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยและรับทราบถึงสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ฟื้นกลับมาสู่ภาวะที่ดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้กลับมาคึกคักมากขึ้นและเข้าสู่สภาวะปกติ พร้อมยกระดับฐานะการผลิตเกษตรอินทรีย์และสร้างเครือข่ายช่องทางการตลาดแก่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถพัฒนา ต่อยอดธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าเกษตรคุณภาพสูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น