เชียงใหม่คุมเข้มชายแดน สกัดแรงงานเมียนมา ลอบเข้าไทยตามช่องทางธรรมชาติ

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุในข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานล่าสุด (ส.ค. 2563) ว่า ทุกกลุ่มที่จำแนกตามลักษณะการเข้าเมือง ทั้ง มาตรา 59, 62 (ส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่น ๆ), 63 (ชนกลุ่มน้อย) และ 64 มีจำ
นวนกว่า 1.8 ล้านคน เมื่อตรวจข้อมูลภาคเหนือ พบมีจำนวน 134,405 คน ซึ่งจะเป็นแรงงานนำเข้าตามข้อตกลงกว่า 31,216 คน และตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2562 อีกราว ๆ 71,667 คน ในพื้นที่เชียงใหม่ถือเป็นแหล่งทำงานของแรงงานต่างด้าวมากที่สุด โดยมีจำนวน 62,464 คน เป็นแรงงานตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2562 ถึง 35,249 คน

ทั้งนี้จำนวนแรงงานคงเหลือในเชียงใหม่ จาก 62,464 คนนั้น ข้อมูลล่าสุด (ส.ค. 2563) คงเหลือ 57,485 คน และเป็นแรงงานตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2563 จำนวน 35,249 คน (นายจ้างขึ้นทะเบียนจ้างงาน 9,880 คน) ในจำนวนแรงงานกลุ่มนี้เป็นชาวเมียนมา 35,083 ราย แยกเป็นหญิง 18,440 คน ส่วนแรงงานชาวลาวในเชียงใหม่มีเพียง 69 คน และกัมพูชา 97 คนเท่านั้น

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พบว่า ลำพูน มีการจ้างงานกลุ่มเมียนมา 5,564 คน, ลำปาง 1,994 คน และ เชียงราย
8,245 คน หากจำแนกประเภทกิจการ ที่คนต่างด้าว ทำงานตามมาตรา 59 นำเข้าแรงงานตามข้อตกลง ในกลุ่ม เมียนมา, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ใน 25 กิจการ พบว่า อยู่ในภาคการก่อสร้างมากสุด ตามด้วยภาคบริการ ซึ่งกลุ่มแรงงานเมียนมา เป็นกลุ่มแรงงานมากที่สุด

 

จากสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอีกรอบในเมียนมาในขณะนี้นั้น กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ฝ่ายปกครอง บูรณาการแผนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง ทหาร, ตำรวจ และสาธารณสุข ควบคุม กวดขันตามแนวชายแดน ไทย-เมียนมา ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า 2,400 กม.

“เฉพาะเชียงใหม่ มีชายแดนติดต่อเมียนมา ใน 5 อำเภอ คือ อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เชียงดาว อ.เวียงแหง และ อ.ไชย
ปราการ รวมระยะทาง 227 กม. ซึ่งทุกหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมปฏิบัติการตามแผนที่ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด มอบหมายอย่างเคร่งครัด”

ตลอดจนแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ที่มีจุดผ่านแดนถาวร
จุดผ่อนปรน และจุดผ่านแดนชั่วคราวรวมแล้วอย่างน้อย 20 แห่ง ใน 7 จังหวัด พิจารณาดำเนินการปิดด่าน จุดเสี่ยงเหล่านั้น ให้หน่วยงานความมั่นคงและ ฝ่ายปกครองแต่ละพื้นที่ตรวจลาดตระเวนในช่องทางธรรมชาติตลอด 24 ชั่วโมง

 

“การลักลอบเข้ามาของแรงงานเมียนมา ตามช่องทางธรรมชาติ เพิ่มต่อเนื่อง และข้อมูล ผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอก 2 ในเมียนมาเพิ่มสองเท่า เพราะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ มาตรการการสกัดกั้นชายแดน จึงเป็นแนวทางที่ทุก ๆ ภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ไม่เช่นนั้นพื้นที่ติดต่อชายแดน จะกลายเป็นจุดเริ่มให้ไทยต้องวนย้อนกลับไป ดำเนินการป้องกันสกัดโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดอีกครั้ง”

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19
ในเมียนมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มวันละร้อยกว่าราย และเริ่มพบในหลาย ๆ เมือง จากพื้นที่ตะวันตก คือ รัฐยะไข่ เริ่มเข้ามาทางตอนกลาง มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 2 สัปดาห์ การระบาดจะขยายพื้นที่มาถึงพื้นที่แถบชายแดนไทย

“มาตรการที่ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นตาม
แนวชายแดน เป็นแนวทางที่ดี เหมาะสมที่สุด และต้อง ขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา อย่าปล่อยให้มีการลักลอบเข้ามาโดยเฉพาะตามพรมแดนธรรมชาติ”

 

ในขณะที่นายสุธรรม บัวแก้ว จัดหางาน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ที่
จะนำเข้าแรงงานได้นั้นมี 2 กลุ่ม คือ นายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง และมอบอำนาจให้บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้เท่านั้น

“ขอแจ้งเตือนนายจ้าง/ผู้ประกอบการให้ใช้บริการจากผู้รับอนุญาตฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าหลงเชื่อ ผู้ที่หลอกลวงว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานหรือสามารถหาลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้ได้ เพราะการใช้แรงงานผิดกฎหมายจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบเห็นหรือถูกขบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวงดังกล่าว ขอให้แจ้งมายังสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506”

ร่วมแสดงความคิดเห็น