(มีคลิป) ตำรวจภาค 5 ติดเขี้ยวเล็บเสริมอาวุธ เพิ่มทักษะประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฎิบัติการพิเศษ 8 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 13 กันยายน 2563 ที่ ลานฝึกศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนาศักยภาพการฝึกอบรมทบทวนและทดสอบหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจ (SWAT CHALLENGE) เพื่อสนับสนุนภารกิจการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ในพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาข้อขัดข้องจากการปฏิบัติการในหลายภารกิจที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์พิเศษต่าง ๆ ตามที่ปรากฏตามสื่อ

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มักจะมีการปฏิบัติไปในหลายแนวทาง จึงเห็นควรให้มีการฝึกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จะต้องปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการรองรับสถานการณ์พิเศษ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องมีการบูรณาการในการระดมสรรพกำลัง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติให้หน่วยข้างเคียง เพื่อพัฒนาทักษะทางยุทธวิธี ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นการสร้างมาตรฐานการฝึก การจัดหน่วย การสร้างเครือข่าย รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยปฏิบัติการพิเศษในสังกัดของ ตำรวจภูธรภาค 5 ตั้งแต่ระดับ กองบัญชาการ ไปจนถึง ระดับ กองบังคับการ ที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานและแสวงความร่วมมือกันในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญในอนาคต และการทดสอบการฝึกครั้งนี้นับว่าเป็นการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจ พ.ศ. 2561-2580 นโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 5 ตลอดจนแผนการก่อการร้ายสากล และแผนรักษาความสงบ (กรกฎคม 2552) ในขั้นเตรียมการ การพัฒนาศักยภาพหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ในการทดสอบและทบทวนหลักการปฏิบัติการพิเศษเพื่อรองรับ การก่อความไม่สงบ การชุมนุมเรียกร้องที่เกินกว่าขอบเขตที่กำหนด และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่เช่นการกราดยิง (Active Shooter) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนภารกิจการถวายความปลอดภัย พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ นับได้ว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องในสถานการณ์ปัจจุบัน และจะเป็นการสร้างเครือข่ายหน่วยปฏิบัติการพิเศษในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้มีการติดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และมีความเม่นยำ รวมไปถึงการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่กำลังพลเหล่านี้จะสามารถนำไปปฏิบัติการณ์ได้จริงหากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยปัจจุบันแต่ละจังหวัด จะมีตำรวจ นปพ.ประจำแต่ละจังหวัดจะมี 1 หมวด ประมาณ 35 นาย แต่จังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่จะมี 1 กองพันเกือบ 200 นาย เชียงรายมี 1 กองร้อย กว่า 100 นาย ซึ่งหากมีภารกิจหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ตำรวจในพื้นที่ ไม่สามารถรับมือหรือต้องการเจ้าหน้าที่เสริม ตำรวจ นปพ.ในพื้นที่ใกล้เคียงจะสามารถรวมพลและเข้าไปให้การสนับสนุนได้ในทีและหากยังไม่เพียงพอหรือสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ทาง ตร.นปพ.ที่ประจำกองพันที่ จังหวัดเชียงใหม่ จะได้มีการประเมินสถานการณ์และจัดส่งกำลังเข้าไปให้การสนับสนุนได้ทันทีเช่นกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น