เวียงกุมกาม เซ่นโควิดทัวร์หายวับ เมืองโบราณรอวันล่มสลาย เหตุสร้างที่พักชุมชนเมืองใหม่

ผู้ประกอบการนำทัวร์วัฒนธรรมเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมจัดทริปปั่นจักรยานชมเวียงกุมกาม เมืองโบราณใต้พิภพ
ของอาณาจักรล้านนา รวมถึงท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีกำลังซื้อ มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวแบบนี้

” ปรากฎว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ที่มีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามา ทำให้กิจการได้รับผลกระทบ ในอดีตที่เคยมี
กิจกรรม ทัวร์หมู่บ้านวัฒนธรรมเวียงกุมกาม โปรแกรมกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ขายแพ็กเกจได้ตลอดปี ไม่เฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว ปัจจุบันยอมรับว่าเดือดร้อน ได้รับผลกระทบมาก ยังโชคดีมีเกสต์เฮ้าต์ ที่กระบี่ พอประคองตัวรอหลังโควิด-19 ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะนานแค่ไหนที่ต้องรอ “

ทีมข่าวสอบถามชาวบ้านที่จำหน่ายเครื่องไหว้สักการะให้นักท่องเที่ยวบริเวณวัดธาตุขาว เวียงกุมกาม กล่าวว่า ตั้งแต่
ทัวร์จีนหาย มีโควิด-19 เข้ามา ไม่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเลย จะมีคนไทยบ้างก็ช่วงวันหยุด นั่งรถรางจากศูนย์บริการ ตระเวนดูแหล่งโบราณสถานตั้งแต่วัดช้างค้ำ วัดอีก้าง วัดกู่ป้าด้อม วัดหนานช้าง วัดเจดีย์เหลี่ยม

” คนไทยที่มาจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน ที่กลุ่มอบต. เทศบาล จากต่างจังหวัด มาดูงานแถวเชียงใหม่ พอขายธูป เทียน
ดอกไม้ได้บ้าง ช่วงที่ไม่มีทัวร์ต่างชาติเข้ามา “กลุ่มชาวบ้านที่บริการสินค้า ของที่ระลึก ในพื้นที่วัดช้างค้ำ เล่าว่า แต่ก่อนที่นี่จะเป็นแหล่งศูนย์รวมผู้คน นักท่องเที่ยว
นักปั่นจักรยาน มีทั้งนั่งรอรถราง รอรถม้า ยิ่งทัวร์จีนช่วงก่อน ๆ มากันมาก พอมีโควิด-19 ระบาด บรรยากาศที่เคยคึกคัก ก็เงียบเหมาะกับการนั่งปฏิบัติธรรม เพราะเงียบจริง ๆ

ทั้งนี้เวียงกุมกามนั้น ในรายงานการอนุรักษ์แหล่งโบราณสถาน ระบุว่า มีการขุดค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้จากการเริ่ม
ขุดค้นเมื่อปี 2527 ที่วัดกานโถม และ ปี 2528 ขุดค้นที่วัดปู่เปี้ย, วัดน้อย ปี 2529 วัดอีก้าง, วัดธาตุขาว, วัดกุมกาม (ร้าง ) ในช่วงปี 2531-2533 ขุดค้นครั้งใหญ่บริเวณ วัดพระเจ้าองค์ดำ, วัดพญามังราย, วัดหัวหนอง, วัดกู่ไม้ซัง ช่วงปี 2540-43 ขุดค้นที่วัดกู่ป้าก้อม,วัดกู่อ้ายสี,วัดกู่อ้ายหลาน, วัดกุมกามทีปราม, วัดกู่ริดไม้, วัดโบสถ์, วัดกู่จ๊อกป๊อก ช่วงปี 2545 มีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเยงกุมกาม ด้วยงบกว่า 39,445,000 บาท และปี 2546 ได้รับงบเพิ่มอีก 38.9 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเวียงกุมกาม เน้นการบูรณะ ปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และสร้างศูนย์บริการข้อมูล, หมู่บ้านวัฒนธรรม บริเวณด้านข้างวัดหนานช้าง, จัดซื้อที่ดินวัดหนานช้าง ในปี 2547 ได้รับจัดสรรงบเพิ่มอีกกว่า 17.3 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ขุดแต่งแหล่งโบราณสถานในเวียงกุมกาม อาทิ วัดกอมะม่วงเขียว, วัด
มะจำโฮง และวัดที่เคยบูรณะ และต้องดำเนินการต่อเนื่องการพัฒนาเวียงกุมกาม มีการใช้งบจำนวนหนึ่งไปโครงการจัดสร้างและปรับปรงหมู่บ้านวัฒนธรรม ซึ่งเคยถูกทิ้งร้างอยู่นานหลายปี และบางส่วนใช้จ่ายซื้อที่ดินวัดอีก้าง วัดหนานช้าง ที่โบราณสถานกลายเป็นพื้นที่มีการครอบครองไป
ปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรม มีแผนพัฒนาให้เวียงกุมกาม โบราณสถานเก่าแก่ อายุกว่า 700 ปี ใน จ.เชียงใหม่
เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒธรรมต้นแบบ ภายใต้แนวคิดนครโบราณใต้พิภพ โดยกำหนดงบประมาณปรับปรุงพัฒนา 88 ล้านบาท  ยังไม่นับรวมกิจกรรมแสงสีเสียงที่ผ่าน ๆ มาหลายงาน เช่น การจัดงานต้อนรับประชุมน้ำโลก เนรมิตพื้นที่สวยงาม มีการแสดงยิ่งใหญ่

กลุ่มอนุรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่าน ๆ มา มีการใช้จ่ายงบประมาณ สำหรับพัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์ เวียงกุมกามค่อน
ข้างสูง กิจกรรมแสงสีเสียง เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน มีการตั้งข้อสังเกตุจากหลายภาคส่วนถึงความคุ้มค่า ในการลงทุน

” ต้องยอมรับว่าการขุดค้น สืบเสาะหาหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี บริเวณเวียงกุมกาม เมืองที่มีบทบาทระหว่าง
1837-1839 ว่ามีฐานะเป็นเมืองราชธานีแห่งราชอาณาจักรล้านนา ก่อนจะล่มสลายเพราะธรรมชาติทำลาย เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง ซึ่งคาดการณ์ตามหลักฐานงานวิจัยว่า น่าจะเกิดขึ้นช่วง 300-400 ปีที่ผ่านมา ด้วยการขุดค้นด้านโบราณคดีบริเวณระหว่างวัดอีค่าง และวัดปู่เปี้ย พบตะกอนดินสูงจากระดับพื้นดินเดิม 3-4 ม. “

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อย่าไปตั้งคำถามกับความคุ้มค่าของงบที่ใช้จ่ายไปในแต่ละกิจกรรม
โดยเฉพาะงานขุดค้น บูรณะ เพราะเป็นงานที่ใช้เวลา ส่วนงบด้านกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวเวียงกุมกาม ทั้งคาดหวังจากการจัดแสดงทางวัฒนธรรม การเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก

” ตั้งเป้ามานักท่องเที่ยวมาเที่ยวเวียงกุมกามปีละ 6-7 แสนคน รายได้สู่ชุมชนปีละ 150-200 ล้านบาท ปัจจุบัน
ช่วงโควิด-19 ภาวนาให้ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้มีคนเข้ามาเที่ยวชุมชน 5 หมื่น-1 แสนคน กับรายได้ 5-10 ล้านบาท น่าเห็นใจหน่วยงานดูแลพื้นที่แหล่งโบราณสถาน แค่จัดการวัชพืช ซ่อมจุดที่เสียงทรุดตัว มีงบจำกัด ดังนั้น จิตสำนึกชุมชนกับสิ่งทรงคุณค่าที่ต้องช่วยกันหวงแหน ปกป้อง อนุรักษ์ต้องมีบ้าง ซึ่งคงคาดหวังยากในเมื่อผู้คนต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ในเมืองใหญ่ที่ภาวะเศรษฐกิจ สังคม เป็นปัจจัย กำหนด ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท เวียงกุมกาม และชุมชน ไม่ดำรงรักษา กระตุ้นกิจกรรมให้เวียงกุมกาม มีสีสัน มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวได้ อาจเป็นจุดพลิกผันให้เมืองโบราณเก่าแก่แห่งนี้ล่มสลายอีกรอบ พร้อม ๆ กับการรุกคืบสร้างที่พัก ชุมชน บนอาณาบริเวณเมืองเก่า ที่เริ่มเห็นภาพการก่อสร้างที่พัก โครงการหมู่บ้านหลาย ๆ แห่งขณะนี้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น