พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”

วันที่ 15 กันยายน 2563 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อพันโทษไปแล้ว ให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึก อบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก

การฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง เรือนจำกลางลำปางและทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง มีผู้เข้ารับการฝึก เป็นผู้ต้องขังเรือนจำกลางลำปาง จำนวน 219 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังชาย 193 คน ผู้ต้องขังชายต่างชาติ 3 คน ผู้ต้องขังหญิงไทย 23 คน และเป็นผู้ต้องขังชายทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง จำนวน 380 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 599 คน โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 1 ถึง 14 กันยายน 2563 แบ่งขั้นตอนการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การอบรมพึ่งตนด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และสรุปและประเมินผล

การฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อสนองพระราชปณิธาน และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนักโทษเด็ดขาด ที่คาดว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และจะพ้นโทษในปี 2563 ในเรือนจำ 137 แห่ง มีความรู้ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบและส่งเสริมทักษะทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแนวทางให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งตนเองได้ มองเห็นโอกาสในการประกอบสัมมาชีพภายหลังพ้นโทษ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือทำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่นไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก สมดังพระราชปณิธานคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น