รัฐบาลทุ่มหมื่นล้าน ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5 ล้านไร่ เพิ่มอำนาจต่อรองเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต

เมื่อวานนี้ 18 ก.ย. 63 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 กรอบวงเงิน 1.39 หมื่นล้าน สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและการขายสินค้า อีกทั้งภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีได้ตรงกลุ่มอย่างเต็มที่ สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่นี้ มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 2.6 แสนราย เป็นจำนวนแปลง 5.25 พันแปลง คิดเป็นเป็นพื้นที่รวม 5 ล้านไร่ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในการร่วมบริหารจัดการการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ เป้าหมายปลายทางคือการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ในเรื่องการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี น.ส.รัชดากล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯมีศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบัน การศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร และจัดอบรมเกษตรกร แหล่งเรียนรู้ และสนับสนุน Smart Farmer และ Young Smart Farmer มากไปกว่านั้น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่จะดำเนินการควบคู่ไปกับหลายหน่วยงาน เช่น ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและกาตลาดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลเรื่องการจำหน่ายสินค้าเกษตรตามนโยบาย “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้การสนับสนุนในส่วนของน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำสนับสนุนด้านการวางระบบน้ำ

รองโฆษก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ณ ปัจจุบัน มีการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 2.8 พันแปลง เกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 1.33 แสนราย และแน่นอนว่าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้ จะนำไปสู่จำนวนเกษตรกรและจำนวนแปลงที่ได้รับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่สำคัญ ประเมินว่าสามารถเพิ่มรายได้และลดต้นทุน คิดเป็นมูลค่าเพิ่มจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท จากการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ร่วมแสดงความคิดเห็น