(มีคลิป) พิธีแต่งงานฝาแฝดชายหญิง แก้เคล็ดตามความเชื่อ แห่ขันหมาก-สินสอดทองหมั้น เลี้ยงญาติพี่น้อง ตามประเพณีพื้นเมือง

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 เวลา 09.09 น. นายบุญปลั่ง นางเสาวลักษณ์ ลำมะยศ อยู่บ้านเลขที่ 507 หมู่ 3 บ้านสวนหอม ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ได้จัดพิธีงานแต่งงานให้หลานชายและหลานสาวฝาแฝด ตามประเพณีพื้นเมือง โดยมี นายอภิรักษ์ น.ส.พัฒน์ธญา ลำมะยศ ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เปิดเผยกับว่า ตนมีลูก 2 คน เป็นผู้ชาย 1 และผู้หญิง 1 ซึ่งเป็นฝาแฝดกัน คือ ด.ช.อภิพัฒน์ ชื่อเล่นว่าน้องเปรม และ ด.ญ.พัชญธิดา ชื่อเล่นว่าน้องปริม อายุ 2 ปี 5 เดือน โดยน้องปริมเกิดก่อน ตั้งแต่เกิดมาก็เลี้ยงง่าย ไม่งอแงหรือเจ็บป่วยหนักอะไรบ่อยนัก โดยที่แฝดทั้งคู่ก็จะมีทะเลาะแย่งของเล่นกันบ้าง มีงอนกันบ้าง แต่โดยรวมมักจะรักกันและชอบอะไรที่เหมือน ๆ กัน และชอบทำอะไรพร้อม ๆ กัน ซึ่งหลังจากนี้ทางครอบครัวก็หวังให้น้องทั้งคู่ มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข เติบโตเรียนหนังสือ ทำงานประกอบอาชีพ และมีครอบครัวต่อไป

ในขณะเดียวกัน นางเสาวลักษณ์ ซึ่งเป็นย่า เล่าว่า สำหรับสาเหตุที่ให้มีการแต่งงานกันในครั้งนี้ เป็นเพราะเชื่อตามคำบอกเล่าของ พี่น้องฝาแฝดต่างเพศ หรือแฝดชายหญิง คือ คู่รักในอดีตชาติกลับมาเกิดร่วมกัน ซึ่งด้วยแรงรักและความผูกพันที่ทั้งคู่มีต่อกันอย่างแรงกล้า และไม่ยอมพรากจากกัน จนได้มาเกิดในท้องเดียวกันเป็นฝาแฝดต่างเพศในชาตินี้ ซึ่งคู่แฝดลักษณะนี้มักจะมีวิบากกรรมคือ จะมีคนใดคนหนึ่ง สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยง่าย หรือบางรายรุนแรงถึงเสียชีวิตลง เพื่อแก้เคล็ดตามความเชื่อของคนโบราณ ที่ว่า การแต่งงานของแฝดชายหญิง จึงเป็นวิธีแก้เคล็ดที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้คู่รักในอดีตชาติได้สมหวังครองรักกัน ซึ่งจะช่วยแก้แรงอาถรรพ์ให้ทั้งคู่สามารถมีชีวิตเป็นปกติสุขได้ ถือเป็นการแก้เคล็ด เพื่อที่จะได้ไม่เจ็บป่วยบ่อยจะได้อายุยืนยาว

ประกอบกับช่วงที่ผ่านผ่านมา ตนรู้สึกว่าหลานชายของตนจะป่วยไม่สบายบ่อยครั้ง สามวันดีสี่วันไข้เป็นมาอยู่เรื่อย ๆ ประกอบกับมีญาติอยู่ที่ต่างจังหวัด แจ้งว่าต้องจัดทำพิธีแต่งงานให้หลานชายหลานสาวทั้งสองคน ตามประเพณีพื้นเมือง ซึ่งตรงกับคนเฒ่า/คนแก่บอก คือ จะต้องจัดพิธีแต่งงานกันขึ้น เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีจัดพิธีในวันที่ 30 กันยายน 2563 ตรงกับ ขึ้น 13 ค่ำเดือน 11 คือเป็นวันที่ฤกษ์ดี ยามดี คือ เวลา 09.09 น. ในงานช่วงเช้าตนเองก็ได้นิมนต์พระสงฆ์ มาฉันท์ภัตตาหารทำบุญตักบาตรที่บ้าน จากนั้นก็มีการจัดเลี้ยง ตั้งโต๊ะข้าวปลาอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมในงานในครั้งนี้

สำหรับพิธีแต่งงานแห่ขันหมาก ในช่วงเช้าทำพิธี ทางญาติและเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าบ่าว ก็เริ่มตั้งขบวนขันหมาก มีถือต้นอ้อย ต้นกล้วย พานเงิน พานทอง ตั้งแถวแห่มาเดินทางมาประมาณ 50 เมตร ร้องโห่ฮิ้ว ทั้งฟ้อนทั้งรำกันมาตามถนนอย่างสนุกสนาน เหมือนกับพิธีแต่งงานของคู่รักหนุ่มสาวทุกอย่าง เมื่อมาถึงบ้านทางฝ่ายเจ้าสาวก็มีการกั้นประตูเงินประตูทอง ตามประเพณี หลังจากเสร็จสิ้นได้จัดทำพิธีส่งเจ้าสาวเจ้าบ่าว/เจ้าสาว กว่าจะผ่านประตูเงินประตูทองได้แต่ละด่าน เจ้าทางฝ่ายบ่าวก็ต้องควักซองสีขาว เพื่อที่จะผ่านด่านประตูได้ หลังจากนั้นก็จะนั่งในพิธีญาติทางฝ่ายเจ้าบ่าว ก็จะพูดคุยขอกับทางญาติฝ่ายเจ้าสาว ตกลงจนเป็นที่พอใจซึ่งกันและกันแล้ว ว่าด้วยสินสอดทองหมั้น เป็นเงินสด 62,940 บาท สร้อยทอง หนัก 2 บาท

จากนั้นก็เริ่มพิธีสู่ขวัญบ่าวสาว มีเจิมหน้าผากด้วยแป้งเพื่อเป็นสิริมงคล  ต่อจากนั้นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนบ้านก็นำฝ้ายผูกมัดด้วยเงิน 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท แล้วไปผูกข้อแขน ให้กับคู่บ่าวสาว เป็นการเรียกขวัญเสร็จแล้วส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าหอเป็นอันเสร็จพิธีอย่างราบรื่น เสร็จทำพิธีเรียบร้อยแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาววัยเตาะแตะ ร้องไห้กินนมอย่างเดียว โดยมีญาติและญาติพี่น้องต่างแสดงความดีใจในพิธีแต่งงานในครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น