จัดระเบียบขอใช้พื้นที่ป่า ตามมติ ครม.ผ่อนผัน แก้ปมขัดแย้งหน่วยงาน-ชาวบ้าน-ป่าไม้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้มีเอกสารแจ้งไปยังท้องถิ่นจังหวัดทุกแห่ง ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมหารือเมื่อ 23 มิ.ย. 2563 เกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันตามมติ ครม. 8 ก.ค. 2523 ในกรณีที่ปรากฎว่ายังมีส่วนราชการ หน่วยงานใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต โดยให้ขออนุญาตภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติดังกล่าว โดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เป็นผู้รวบรวมคำขออนุญาตของหน่วยงานในสังกัดให้ครบถ้วน เพื่อจัดส่งไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมป่าไม้)

ทั้งนี้การยื่นรายละเอียดจะมีแบบ ปส.17/ปส.20 ใบคำขออนุญาตกรณีป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และแผนผังกู้เกิ้ลแมพ บริเวณพื้นที่ขออนุญาตประกอบด้วย ซึ่งในส่วน อปท. นั้น ต้องดำเนินการตามที่ สำนักงานการปกครองท้องถิ่นแต่ละจังหวัดแจ้ง และกำหนดระยะเวลาส่งมอบข้อมูล ซึ่งถ้า อปท. ไม่ดำเนินการภายในห้วงเวลากำหนดให้ตรวจสอบจะถือว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้อง สมบูรณ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของทีมข่าวในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตามทะเบียนการรับคำขอของส่วนราชการ พบว่า ประเภทป่า ส่วนหนึ่งระบุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา วัตถุประสงค์ในการใช้พื้นที่จะเป็นการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ถนน เป็นส่วนใหญ่ เช่น สายทางถนน มส.ถ.1-0003 บ้านหัวน้ำแม่สะกึ๊ด-บ้านห้วยตอง ต.ห้วยปูลิง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ในความรับผิดชอบของ อบจ.แม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 60 ไร่, โครงการก่อสร้างถนน คสล. ม.2 เพื่อให้สะดวกในการเดินทางของชาวบ้าน ในพื้นที่ดูแลของ อบต.เมืองแปง จำนวน 11 ไร่ เป็นต้น

นอกจากนั้น ในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่, ลำพูน และ ลำปาง พบว่า การแจ้งวัตถุประสงค์ในการใช้พื้นที่ มีทั้งการดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์, การสัญจร, เพื่อศูนย์รวมประชาชน, เพื่อการศึกษา, กักเก็บน้ำ, สุสาน, ออกกำลังกาย และที่ทิ้งขยะ โดยมีการแจ้งเนื้อที่ และประเภทป่าอย่างชัดเจน พร้อมหน่วยงานที่ยื่นคำขอ

ด้านผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาการแจ้งขออนุญาต ใช้พื้นที่ครั้งนี้ น่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูล ในพื้นที่ป่าสงวน, ป่าประเภทต่าง ๆ อย่างชัดเจน ในความดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายป่าไม้ ซึ่งจะช่วยให้ลดข้อพิพาท ข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและประชาชนได้

ที่ผ่าน ๆ มา หน่วยงานกำกับดูแลผืนป่า กล่าวอ้างข้อกฎหมายป่าสงวน จนทำให้แผนงานโครงการพัฒนา เพื่อท้องถิ่น หมู่บ้านต่าง ๆ มีข้อจำกัด บางแผนงานไม่สามารถดำเนินการได้ งบประมาณตกไป เพราะเงื่อนไขสถานที่ตั้งโครงการ อยู่ในความดูแลของป่าไม้ แต่บาง อปท. ก็ลุยหน้าโครงการ เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ชาวบ้านไม่มีทางสัญจร ต้องจัดงบพัฒนาสายทาง อาทิ ถนนวงแหวนเชื่อม 4 ตำบลใน อ.อมก๋อย หากไม่เป็นโครงการพิเศษก็ยากจะดำเนินการได้ ด้วยหลักเกณฑ์ป่าไม้ ที่ควรมีการแก้ไขปรับปรุง ไม่เช่นนั้นการกระจายความเจริญต่าง ๆ ก็สะดุด

เฉพาะ จ.แม่ฮ่องสอน กว่าร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ป่าหวงห้าม หน่วยงานต่าง ๆ จะพัฒนา ทำอะไรก็ติดขัด จนชาวบ้านขึ้นทำเนียบจังหวัดแชมป์คนยากจนมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่ง อบจ.แม่ฮ่องสอน และทางจังหวัด พยายาม ขับเคี่ยวเรื่องเอกสาร ให้มีการผ่อนผัน กำหนด กฎกติกาที่เอื้อเพื่อชีวิตผู้คนบ้าง ป่าจะไม่มีเกิดประโยชน์ใด ๆ ในการอนุรักษ์ หากคุณภาพชีวิตผู้คน ที่ต้องพึ่งพิง ผืนป่า มีการพัฒนาไปตามความเป็นไปของยุคสมัย มัวแต่กังวลว่าป่าจะถูกบุกรุกเพิ่ม ถูกทำลายลง จนมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า ชีวิตผู้คนย่อมดำรงอยู่อย่างปกติสุข ในพื้นที่สามารถหล่อเลี้ยงสร้างประโยชน์ในชีวิตได้ คงไม่มีมนุษย์หน้าไหนไปทำลายป่าต้นน้ำ ไปเผาป่าจนชุมชน บ้านเมือง เกิดผลกระทบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น