ปลดล็อคปัญหาที่ดินสามหมอก อบจ. เสนอ มท.1 ผลักดัน “แม่ฮ่องสอนโมเดล 5 มิติ”

ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า หลังจากคณะของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนซึ่งทุกภาคส่วนในพื้นที่มั่นใจว่า แม่ฮ่องสอนจะมีอนาคตที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเดินทางมา จ.แม่ฮ่องสอน ครั้งนี้ รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดโครงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยให้ชุมชน (คทช.) และมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) 1,300 เล่ม 1,012 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 1,388-1-31 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนป่าแม่ปายฝั่งซ้ายท้องที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ได้บรรยายสรุปต่อคณะ มท.1 ว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ 7,987,860.50 ไร่ จำแนกเป็น พื้นที่ป่าสมบูรณ์ 6,958,612 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.11 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 1,029,248.5 ไร่ ร้อยละ 0.13 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยพื้นที่ไม่มีสภาพป่า แบ่งเป็น พื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 105,319 ไร่ ร้อยละ 10.23 พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) 25,000 ไร่ ร้อยละ 2.43 พื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 45,000 ไร่ร้อยละ 4.37 พื้นที่ราษฎรถือครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 853,929.5 ไร่ ร้อยละ 82.97 ซึ่งการจัดโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสให้ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้ นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน (อบจ.) กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของ จ.แม่ฮ่องสอน ต่อคณะ มท.1 ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ถนนเชื่อมตำบล/หมู่บ้าน สาธารณูปโภคพื้นฐาน (ไฟฟ้า) ปัญหาด้านการเกษตร เอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ปัญหาสังคมบางประการ และการเดินทางทั้งทางบก ทางอากาศ ปัญหาด้านสาธารณสุข

 

จึงได้นำเสนอข้อเสนอ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในบริบทพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 5 ด้าน คือ
1. ถอดบทเรียนการทำงานทั้งโครงการ คทช. และ “แม่ฮ่องสอนโมเดล” เพื่อปรับปรุงการทำงาน เพิ่มผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน
2. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบูรณาการโครงการที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าในโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลและโครงการจัดการที่ดินแห่งชาติ
3. ขอให้กำหนดให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่เป้าหมายในการออกเอกสารสิทธิ์
4. ผลักดันในเรื่ององระบบการคมนาคมขนส่ง
และ 5. ผลักดันกระเทียมเป็นพืชประกันรายได้

ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์ในตัว นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเยือนต่อเนื่อง เป็นเมืองแห่งความสุข แต่ปัญหาสำคัญที่ชาวแม่ฮ่องสอนประสบมาอย่างยาวนาน คือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่ง รัฐบาลได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการจัดรูปที่ดิน (คทช.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

“เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากที่ดินในการประกอบอาชีพ ทำมาหากิน อยู่อาศัยกับครอบครัว ซึ่งจะเร่งดำเนินการออกเอกสารอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทำกินในที่ดินฯ (คทช.) ให้ได้ตามเป้าหมายเร็วที่สุด”

ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยมอบหมายให้รับผิดชอบกำกับติดตามคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด และทุกส่วนราชการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, ลำพูน และ แม่ฮ่องสอน จากนี้ไปจะติดตามการขับเคลื่อนงานของทุกส่วนราชการใน จ.แม่ฮ่องสอน และความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วนเพื่อนำเสนอรัฐบาลแก้ไขปัญหาต่อไป

 

สำหรับ สภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ได้แก่
1. ด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญเพราะแม่ฮ่องสอนมีสภาพทางกายภาพ มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็ต้องดูแลรักษา และป้องกันปัญหาน้ำเสียและขยะในแหล่งน้ำ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องนี้ร่วมกับ อปท.
2. การจัดการที่ดินทำกิน ซึ่งประชาชนในจ.แม่ฮ่องสอนยังประสบกับปัญหาดังกล่าวจำนวนมาก จะเร่งหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอเข้าสู่อนุกรรมการฯ ต่อไป
3. พืชผลทางการเกษตร “กระเทียม” จะต้องหาแนวทางในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จะหาแนวทางขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายอื่น ๆ รวมทั้งศึกษาแต่ละเรื่องอย่างเร่งด่วน ตามที่ได้รับฟังจากทุก ๆ ฝ่าย เพื่อจะให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนแม่ฮ่องสอน และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

แต่ที่เป็นห่วงขณะนี้คือปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาน้ำเสียและปัญหาขยะของหมู่บ้านรักไทย ขอให้แต่ละฝ่ายหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนแนวคิด “ไทยไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นแนวคิดติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ ซึ่งมีกลไกดำเนินงาน แบ่งเป็น ระดับอำนวยการ โดยคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมอบหมายรัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด และระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

“ทุก ๆ ส่วนงานต้องติดตามรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในจังหวัด ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ซึ่ง 1 ต.ค. นี้ นายสิทธิชัย จินดาหลวง โยกย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น