สดร. ชวนส่องดาวเคราะห์แดงอีกครั้ง 14 ตุลาคมนี้ “ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดส่องดาวเคราะห์แดงอีกครั้ง 14 ตุลาคมนี้ “ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์” ปรากฏสีส้มแดง สุกสว่าง ทางทิศตะวันออก สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ชวนประชาชน
ส่องพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งอีกครั้ง ณ 4 จุด สังเกตการณ์หลักที่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดถ่ายทอดสดชมดาวอังคารแบบเต็มตา ผ่านเฟซบุ๊คสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร
จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป มองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ปรากฏสีส้มแดง สว่างสุกใส หากส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะสังเกตเห็นพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งได้


สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารอีกครั้ง คืนวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.
– 22.00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
(081 – 8854353) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสงขลา รวมทั้งโรงเรียนเครือข่ายที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ 460 โรงเรียนทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมสังเกตการณ์ดาวอังคารกันอีกครั้ง ส่องพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ฯลฯ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมี NARIT Facebook Live ถ่ายทอดสด
ดาวอังคารให้ชมแบบเต็มตา ผ่านทางเฟซบุ๊คสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITPage) อีกด้วย

ในค่ำคืนดังกล่าว สดร. ยังเปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์ และท้องฟ้าจำลองช่วงกลางคืน (Night at the museum) นิทรรศการชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับการเข้าชมท้องฟ้าจำลอง มีค่าธรรมเนียม : เด็ก 30 บาท
ผู้ใหญ่ 50 บาท สอบถามรอบฉายได้จากหอดูดาวภูมิภาคแต่ละแห่ง ดังนี้ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
(081 – 8854353) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา (086 – 4291489) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา (084 – 0882264) และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา (095 – 1450411)

ปกติแล้วดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกที่สุดทุก ๆ ประมาณ 2 ปี 2 เดือน ในครั้งนี้ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่
6 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จากนั้นจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้
หลังจากนี้ดาวอังคารจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกไปเรื่อย ๆ และจะเข้าใกล้โลกที่สุดอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565 นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น