กรมอนามัย แนะเลี่ยงเมนูกินดิบ ไม่สุก เสี่ยงพยาธิ ชี้ ปรุงไม่สะอาดหวั่นอาหารเป็นพิษ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์คลิปที่ตัวเองโพสต์ลงในแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งเป็นคลิปขณะเทส้มตำลงจาน เป็นส้มตำปูที่สดมาก เพราะเป็นปูนาตัวเป็น ๆ 3 ตัว ที่เดินพล่านอยู่ในจานนั้น การบริโภคอาหารลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือไม่ผ่านความร้อนเลย หรือใช้ความร้อนในระเวลาสั้น ๆ เช่น ส้มตำหลากหลายรูปแบบ ลาบหมู ก้อยเนื้อ รวมถึงอาหารประเภทยำต่าง ๆ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์พอสุกเท่านั้นแล้วใส่เครื่องปรุง และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตรายในอาหาร ที่นำมาเป็นวัตถุดิบได้

ดังนั้น จากข่าวที่นำเสนอเป็นส้มตำปูนา จึงทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอด เพราะเวลากินปูดิบ ๆ เข้าไปก็มีโอกาสกินไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิตัวนี้เข้าไป ซึ่งนํ้าย่อยในกระเพาะไม่สามารถฆ่าให้ตายได้ แม้พยาธิตัวนี้จะไม่สามารถแพร่พันธุ์ในตัวคนเราได้ แต่จะชอนไชเข้าไปในปอดฟักตัวอยู่ประมาณ 1 เดือน จนทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และทำให้เสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัยหากเป็นเมนูส้มตำปู ควรนำปูมากลวกสุกด้วยความร้อนก่อนนำมาปรุงอาหาร

 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การปรุงประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นเมนูใด ก่อนนำวัตถุดิบมาปรุง ต้องล้างน้ำให้สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ สารเคมีตกค้าง และต้องปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อน ให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต้องสุกถึงข้างใน ไม่ควรปรุงรสชาติเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป ที่สำคัญคือให้เลือกซื้อจากร้านที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste ของกรมอนามัยรับรอง ที่สร้างความมั่นใจในเรื่องความสะอาดปลอดภัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ร้านอาหารหรือแผงลอยจำหน่ายอาหารต้องมีการปกปิดอาหาร ผู้ปรุงไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม


“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 และคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการรับบริการด้านอาหาร ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี หรือโลหะหนักในอาหาร รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำ เป็นสื่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น