สิ่งควรรู้สำหรับเทศกาลกินเจ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคม นี้

เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี เราจะเห็นธงสีเหลือง ๆ มีตัวอักษรจีน ประดับอยู่ตามร้านอาหาร และที่ต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ว่า เริ่มเข้าสู่เทศกาลกินเจแล้ว โดยในปี 2563 ปฏิทินจีนพบว่า เทศกาลกินเจ ตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 แต่บางคนอาจกินเจล่วงหน้า 1 วัน หรือที่เรียกว่า “ล้างท้อง” นั่นเอง และวันนี้เราก็มีความรู้เกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาฝากค่ะ …

ความหมายของเจ

คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายว่า “อุโบสถ” เดิมหมายความว่า “การกินอาหารก่อนเที่ยงวัน” ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่กินอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่กินเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่กินอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” ดังนั้น ความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

“การกินเจ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า “เจี๊ยะฉ่าย” หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว

ช่วงเวลากินเจ

ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เก้าอ๊วงเจ” หรือ “กิ้วอ๊วงเจ” แปลว่า “เจเดือน 9” เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) โดยคำว่า “เก้าอ๊วง” หรือ “กิ้วอ๊วง” แปลว่า “พระราชา 9 องค์” หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ

เทศกาลกินเจ 2563 เริ่มวันไหน

สำหรับเทศกาลกินเจ 2563 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ 25 ตุลาคม 2563

ความหมายของ “ธงเจ”

ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะสังเกตเห็นธงประจำเทศกาล โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้น สีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” มีความหมายว่า “ของไม่มีคาว” เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต

ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจ ได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงกินเจ

 ทำไมต้องกินเจ เรากินเจเพื่ออะไร

จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ
2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้
3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมากินเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น

กินเจ

ตำนานการกินเจ

ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่อง ได้แก่

ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9
เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ “หงี่หั่วท้วง” ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณให้เกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ

ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า
เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 องค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 องค์ รวมเป็น 9 องค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว

ตำนานที่ 3 เก้าอ๊วงฝ่ายมหายาน
กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 องค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 องค์ คือ พระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์ และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 องค์ (หรือ “เก้าอ๊วง”)

ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 องค์ด้วยกัน คือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 องค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ

ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง
เชื่อว่าการกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง ซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จเยือนไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่อีกทอดหนึ่ง

ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย
เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไส ซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย

คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย

เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้น และให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ)

ตำนานที่ 6 เล่าเซ็ง
มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่าแม่ตนเองตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะแม่กินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้ ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย

เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภรณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น

ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต
มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกะทู้ นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไส ให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน

สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นการสักการบูชาแก่พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ “เจ้าแม่กวนอิม” การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

เทศกาลกินเจ ภูเก็ต
เทศกาลกินเจ ที่ จ.ภูเก็ต

เทศกาลกินเจ ภูเก็ต
เทศกาลกินเจ ที่ จ.ภูเก็ต

ภูเก็ต เมืองแห่งเทศกาลเจ

จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่จัดประเพณีการกินเจอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี โดยมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก “เจเดือนเก้า” แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 ดังนั้น เทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่ว ๆ ไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตว่า เป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบและระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน

10 วันของเทศกาลกินเจ

ประเพณีกินเจจะจัด 9 วัน 9 คืน โดยแต่ละวันมีพิธีต่าง ๆ กันดังนี้

วันแรก แต่ละศาลเจ้าก็จะดูฤกษ์ยามว่า จะเชิญเจ้ามาเวลาไหน แต่ไม่เกินเที่ยงวัน โดยใช้ “ปวย” 2 อันเสี่ยงทายโดยการโยน 2 ครั้ง หาก 1 อันหงาย 1 อันคว่ำ แสดงว่า เจ้าทั้งเก้าได้เสด็จลงมาแล้ว การกินเจจะเริ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักกินกันล่วงหน้าเพื่อล้างท้อง

ที่ภูเก็ตในตอนกลางคืนจะมีพิธียกเสา “โกเต้ง” ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือพระอิศวร และกิ้วอ๋องไต่เต่ หรือราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้ามาประทับ

เช้าวันที่สอง จะมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก “การกินผัก” ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า “เช้ง” ในตอนค่ำมีพิธีการเชิญเจ้าเข้าทรงอีก 2 องค์ คือ “ลำเต้า” เจ้าผู้สำรวจคนเกิด และ “ปักเต้า” เจ้าผู้สำรวจคนตาย และทำพิธี “ปั้งกุ้น” หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

วันที่สี่ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะมาไหว้เจ้า วันนี้ศาลเจ้าต่าง ๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน

วันที่เจ็ด จะเริ่มพิธีบูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการไหว้เจ้า แต่วันนี้สำคัญกว่าวันที่สี่ เรียกว่า “ไหว้เจ้าใหญ่” ในวันนี้จะมีการซื้อเต่า, ปลาไหล, นก ฯลฯ มาไหว้ด้วย

วันที่แปด วันนี้จะมีการลอยกระทง คล้ายการลอยกระทงของคนไทย เพื่อขอบคุณเจ้าแม่คงคาที่ให้น้ำใช้ น้ำดื่ม และให้สิ่งไม่ดีลอยไปตามน้ำ นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระลึกถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือคนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่าง ๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

วันที่เก้า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำทาน หรือเรียกว่า “ซิโกว” เป็นการให้ทานแก่ผีไม่มีญาติ ตอนกลางคืนจะมีแห่มังกร, สิงโต, ขบวนของเด็กที่จัดเพื่อเป็นสีสัน

ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี “โก้ยโห้ย” หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลง ดับโคมไฟทั้งเก้า เป็นอันเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

วันที่สิบ เป็นวันส่งเจ้ากลับ กินเจ 2563

อาหารเจ มีอะไรบ้าง

อาหารเจนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และไม่มีพิษต่อร่างกาย เพราะได้โปรตีนจากถั่วต่าง ๆ และยังย่อยง่าย เป็นการแบ่งเบาภาระของระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ผู้ที่กินเจสามารถเลือกส่วนผสมดังต่อไปนี้มาปรุงอาหารได้ คือ ข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันมีเมนูอาหารจำนวนมาก ซึ่งหลายเมนูทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ได้เหมือนจริง เช่น ขาหมูเจที่ทำจากแป้ง และถั่ว ฯลฯ อาหารเจ

กินเจ กับ มังสวิรัติ ต่างกันอย่างไร

หลายคนอาจสงสัยว่า “กินเจ” ต่างกับ “กินมังสวิรัติ” อย่างไร เพราะอาหารมังสวิรัติก็เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน แต่มังสวิรัติสามารถกินผักได้ทุกชนิด แต่อาหารเจ ต้องเว้นผักฉุน 5 ประเภท คือ กระเทียม หัวหอม (รวมทั้งหอมแดง หอมขาว หัวหอมใหญ่ ต้นหอม) หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ไม่ค่อยพบในประเทศไทย) กุยช่าย และใบยาสูบ รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ขณะที่มังสวิรัติ หมายถึง การไม่กินเนื้อสัตว์เท่านั้น

หลักธรรมในการกินเจ
การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ
1. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน, ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน และไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน
2. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเอง คือ จะกินสิ่งใดเข้าไปต้องไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเท่ากับเป็นการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้น จึงมีการห้ามของมึนเมา สารเสพติด ขณะที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ยืนยันว่า เลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย เนื้อสัตว์เหล่านี้จึงจัดเป็นพิษชนิดหนึ่งเช่นกัน การละเว้นจึงส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย

วิธีล้างท้องก่อนกินเจ
การล้างท้องก่อนกินเจ คือ การกินเจก่อนถึงวันเทศกาลเจจริงประมาณ 1-2 วัน โดยส่วนมากจะนิยมล้างท้องก่อนกินเจจริง ๆ 1 วัน เพื่อชะล้างเนื้อสัตว์ หรืออาหารคาวต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกายออกให้หมดสิ้น เมื่อถึงวันถือศีลกินเจ ร่างกายจะได้สะอาด พร้อมถือศีลกินเจตามประเพณี

กินเจ มีข้อห้ามอะไรบ้าง

ข้อห้ามในการกินเจหลัก ๆ แล้วมีดังนี้
1. งดเว้นเนื้อสัตว์ และห้ามทำอันตรายต่อสัตว์
2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
3. งดอาหารรสจัด ทั้งอาหารเผ็ด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด
4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน) กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ และของมึนเมาต่าง ๆ เพราะผักดังกล่าวนี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษคอยทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ
5. ไม่ใช้จานชามปะปนกัน และต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงขึ้นมา (สำหรับคนที่เคร่ง)
6. งดดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิด
7. ห้ามดับตะเกียงในสถานที่กินเจทั้ง 9 ดวง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเก้าฮ้วงฮุดโจ้ว ซึ่งต้องจุดไว้ตลอดทั้งวันทั้งคืนจนกว่าจะจบพิธีกินเจ และหากตะเกียงดับก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล รวมทั้งการกินเจก็จะไม่สมบูรณ์ด้วย

กินเจ ผักที่กินไม่ได้มีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ อยากจะย้ำให้ชัดอีกทีว่า ช่วงกินเจ ผักที่กินไม่ได้จะมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน) กุยช่าย และใบยาสูบ ซึ่งคนกินเจควรต้องใส่ใจกับอาหารเจที่จะกินด้วยนะคะ เพราะบางครั้งด้วยความเคยชินเราอาจเผลอกินอาหารที่มีผักต้องห้ามเหล่านี้ผสมอยู่

20 คำถามกินเจ กินได้ไหม ทำแบบนี้ได้ไหม

กินเจ กินไข่ได้ไหม
ตอบ : กินไม่ได้ค่ะ เนื่องจากหลักในการกินเจจะไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่ไข่เป็นผลผลิตจากไก่ซึ่งเป็นสัตว์ ดังนั้น หากกินเจอยู่ก็ต้องงดกินไข่ไปก่อนนะคะ

กินเจ ดื่มกาแฟได้ไหม
ตอบ : ดื่มได้ค่ะ แต่ต้องเป็นกาแฟดำหรือโอเลี้ยงเท่านั้น ห้ามใส่นมหรือครีมเทียม และหากเป็นไปได้ควรดื่มกาแฟที่ชงเอง เนื่องจากบางร้านอาจใช้เนยในการคั่วเมล็ดกาแฟ เพื่อเพิ่มความหอมมันด้วย

กินเจ ดื่มเหล้าได้ไหม
ตอบ : ไม่ได้เด็ดขาดค่ะ เพราะเหล้าเป็นของมึนเมา ซึ่งไม่ถูกหลักการถือศีลในช่วงกินเจเลยสักนิด

กินเจ กินน้ำผึ้งได้ไหม
ตอบ : ไม่ได้ค่ะ น้ำผึ้งเป็นส่วนหนึ่งของตัวผึ้ง ดังนั้น เราก็ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์

กินเจ ดื่มน้ำอัดลมได้ไหม
ตอบ : หลักในการกินเจอาจไม่มีข้อห้ามที่แน่ชัดในเรื่องการดื่มน้ำอัดลม ทว่าตามวิถีสุขภาพที่ดีแล้ว เราควรดื่มน้ำเปล่าเป็นหลักดีกว่า

กินเจ กินวิตามินซีได้ไหม
ตอบ : กินได้ แต่ต้องเช็กให้ชัวร์ด้วยว่าเป็นวิตามินซีที่สกัดมาจากพืชล้วน ๆ ไม่มีส่วนผสมของคอลลาเจนที่ส่วนมากจะมาจากเนื้อสัตว์

กินเจ กินทุเรียนได้ไหม
ตอบ : กินได้ เพราะมีความเชื่อว่า ผัก-ผลไม้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของธาตุดิน มีประโยชน์ในการบำรุงม้าม แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรกินทุเรียนมาก เพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ

กินเจ กินผงชูรสได้ไหม
ตอบ : กินได้ เพราะผงชูรสทำมาจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็จะดีกว่า เพราะผงชูรสไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพนะคะ อ้อ ! คนกินเจอย่าเผลอไปกินผงปรุงรสที่สกัดมาจากกระดูกสัตว์หรือการเคี่ยวเนื้อสัตว์ เช่น ผงปรุงรสหมู รสไก่ หรือซุปก้อนเข้าล่ะ

กินเจ ดื่มชาได้ไหม
ตอบ : ชาสามารถกินได้ค่ะ เพียงแต่ต้องระวังไม่กินชาที่ใส่นมหรือครีมเทียมทุกชนิด

กินเจ กินผักชีได้ไหม
ตอบ : กินไม่ได้ค่ะ ผักชีเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนชนิดหนึ่ง ไม่ควรนำมาปรุงอาหารเจ

กินเจ กินยีสต์ได้ไหม
ตอบ : กินได้ค่ะ เนื่องจากยีสต์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเห็ดและรา ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

กินเจ กินช็อกโกแลตได้ไหม
ตอบ : ช็อกโกแลตส่วนมากมักจะมีส่วนผสมของนม คนกินเจจึงควรงดช็อกโกแลตใน 9-10 วันของเทศกาลกินเจไปก่อนค่ะ

กินเจ กินสาหร่ายได้ไหม
ตอบ : ได้ค่ะ เพราะสาหร่ายจัดเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มพืชชั้นต่ำ ไม่ใช่สัตว์

กินเจ กินพริกไทยได้ไหม
ตอบ : ได้ค่ะ พริกไทยจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ทว่าหากใครตะขิดตะขวงใจในเรื่องกลิ่นฉุนของพริกไทย จะไม่กินพริกไทยในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจเพื่อความสบายใจก็ได้เช่นกัน

กินเจ กินโยเกิร์ตได้ไหม
ตอบ : ไม่ได้ค่ะ เนื่องจากโยเกิร์ตทำมาจากนม จึงต้องงดไปก่อน

กินเจ กินมาม่า (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ได้ไหม
ตอบ : กินได้ แต่ต้องเลือกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสัญลักษณ์เจเท่านั้น เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบปกติจะมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนอยู่ด้วย

กินเจ กินปูอัดได้ไหม
ตอบ : ไม่ได้ เพราะแม้ปูอัดจะไม่ได้ทำมาจากเนื้อปู แต่ก็ทำมาจากเนื้อปลานะจ๊ะ

กินเจ กินหอยนางรมได้ไหม
ตอบ : แม้จะมีเรื่องเล่าในตำนานว่ากินเจสามารถกินหอยนางรมได้ แต่เพื่อความบริสุทธิ์จริง ๆ ก็ไม่ควรกินหอยนางรมในช่วงกินเจ เพราะหอยนางรมก็ถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเช่นกัน

กินเจ มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
ตอบ : ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างกินเจค่ะ เพราะจริง ๆ แล้วการถือศีลกินเจยังมีข้อห้ามเรื่องการแต่งหน้า ทาปาก การประทินโฉมและการแต่งกาย โดยจะสังเกตได้ว่าคนที่ถือศีลกินเจส่วนใหญ่จะนุ่งขาวห่มขาว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ อยู่ในศีลธรรม คิดดี พูดดี และทำดี และในผู้ที่เคร่งครัดมาก ๆ อาจมีการแยกห้องนอนกันเลยทีเดียว

กินเจ สูบบุหรี่ได้ไหม
ตอบ : ไม่ได้เด็ดขาดค่ะ ใบยาสูบก็เป็นหนึ่งในของต้องห้ามในช่วงกินเจ ดังนั้น หากตั้งใจจะถือศีลกินเจก็ควรงดบุหรี่และอบายมุขทุกสิ่งไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามในการกินอาหารและการปฏิบัติตัวในช่วงกินเจยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันพอสมควร ทว่าเพื่อความสบายใจและสุขใจในการกินเจอย่างแท้จริง อะไรเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปน่าจะดีเนอะ

ทั้งนี้ หลายคนอาจมองว่า ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจก็มีหลายอย่างที่กินไม่ได้ แล้วอย่างนี้การกินเจจะกระทบกับสุขภาพไหม เราเลยมีวิธีกินเจอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพมาบอกต่อ

กินเจอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ
1. ล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาด
ในช่วงกินเจเราจะมีโอกาสได้กินผัก-ผลไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ควรต้องระวังสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในบรรดาผักและผลไม้ให้มากขึ้นด้วย โดยควรเลือกซื้อผักและผลไม้จากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน หรือควรต้องมีป้ายรับรองความสะอาด ถูกสุขอนามัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และก่อนนำผัก-ผลไม้มากิน ควรล้างด้วยน้ำไหล 2 นาที หรือแช่ด้วยเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร หากมีน้ำส้มสายชูก็สามารถนำมาใช้ล้างผักได้เช่นกัน อัตราส่วนครึ่งถ้วย ต่อน้ำ 4 ลิตร โดยแช่ไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นน้ำมาล้างน้ำสะอาดอีก 2 ครั้ง

2. ลดอาหารเค็มจัดและหวานจัด
เครื่องปรุงอาหารเจหลัก ๆ จะเป็นซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ชอบกินอาหารรสจัดก็อาจเผลอปรุงรสอาหารเจด้วยเครื่องปรุงเหล่านี้มากเกินปกติ ซึ่งก็อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคไต และเบาหวานได้ ดังนั้น พยายามอย่ากินเค็มจัดและหวานจัดดีกว่า

3. กินแป้งให้น้อย 
อย่าลืมว่าอาหารเจส่วนใหญ่อุดมไปด้วยแป้งเน้น ๆ เลยนะคะ ดังนั้น หากเป็นไปได้พยายามเน้นกินผัก เต้าหู้ ด้วยการปรุงสุกแบบต้มและนึ่ง เพื่อสุขภาพที่ดีและรูปร่างที่ไม่อ้วนกันเถอะ

4. กินโปรตีนให้มาก
แม้ช่วงเจเราจะงดกินเนื้อสัตว์ แต่ยังมีโปรตีนจากพวกถั่ว เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ และโปรตีนเกษตรเป็นตัวเลือก เพื่อสุขภาพอีกทางหนึ่ง ดังนั้น หากไม่อยากให้ร่างกายขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ก็อย่าลืมกินอาหารประเภทนี้เยอะ ๆ นะคะ

กินเจ

กินเจยังไงไม่ให้อ้วน
มีหลายคนสงสัยว่ากินเจแล้วอ้วนไหม ตอบได้เลยค่ะว่าเรามีวิธีกินเจอย่างไรไม่ให้อ้วนมาฝาก โดยทำง่าย ๆ ตามนี้เลย
1. เลือกกินข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดขาว อย่างข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งปริมาณน้ำตาลไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลในแป้งขัดขาว
2. เลือกผักใบมากกว่าพืชหัว เพราะผักใบมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าพืชหัวมาก ดังนั้น จึงทำให้อ้วนน้อยกว่านั่นเอง
3. เน้นอาหารประเภทนึ่ง ต้ม ตุ๋น เพราะไม่มีน้ำมัน และไขมันน้อยกว่าอาหารประเภทผัดและทอด
4. กินหวานให้น้อย อย่าทดแทนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ด้วยของหวานเลยนะคะ โดยเฉพาะถ้าไม่อยากอ้วนต้องอดใจกับของหวาน ๆ ให้อยู่
5. อดอาหาร ล้างพิษหลังกินเจ เพราะจะช่วยให้ร่างกายขับพิษต่าง ๆ ออกมาได้ ทั้งยังช่วยลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนัก ลดภาวะร้อนในจากธาตุในร่างกายที่ไม่สมดุลได้อีกด้วย

ประโยชน์ของการกินเจ

การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลรักษาประเพณี และละเว้นชีวิตแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
1. ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมด ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน เพราะสารอาหารจากพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ
2. เมื่อกินเป็นประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้อายุยืนยาว มีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส ร่างกายแข็งแรง รู้สึกมีสุขภาพดี
3. อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบ คือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรง ทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์
4. ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่าง ๆ ได้แก่ สารเคมี ยาฆ่าแมลง มลภาวะ และก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ ซึ่งสารอาหารในพืชผัก จะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่าง ๆ ได้
5. สามารถต้านทานสารพิษได้สูงกว่าคนปกติ ในบรรดาผู้ที่กินเจมักไม่ปรากฏโรครุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ฯลฯ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่กินเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ
6. การกินเจทำให้เกิดความเมตตา เกิดความสงบสุขุม อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ไม่โมโหง่าย ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลส่งเสริมให้บารมีธรรมสูงขึ้นเรื่อย ๆ
7. หยุดการสร้างบาป เวรกรรม ทำให้ไม่เกิดการอาฆาต พยาบาท จึงปราศจากศัตรูทั้งมนุษย์และสัตว์ที่คิดมุ่งทำร้ายตามจองเวร

ที่มา : kapook 

ร่วมแสดงความคิดเห็น