ฟาร์มหมูภาคเหนือจุก รอเจ๊ง ราคาถูกกด โรคระบาดซ้ำ เข้าช่วงกินเจคนซื้อลดอีก

กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร เชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยว่า ฟาร์มหมูกว่า 90 แห่ง ที่รวมกลุ่มกัน ได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาโรคระบาด โรคเพิร์ส ทั้งในส่วนของฟาร์มที่เกิดโรค และฟาร์มใกล้พื้นที่แพร่ระบาดโรคในรัศมี 1-5 กม. ต้องหยุดเลี้ยงชั่วคราว เหลือเพียง 20 กว่ารายเท่านั้น

“ค่าชดเชยที่เกษตรกรจะได้กรณีต้องทำลายหมูที่สัดส่วน 75% ของมูลค่าหมู จึงไม่จูงใจให้ร่วมสนับสนุนมาตรการป้องกันโรคนี้มากนัก จึงน่าจะเป็นอีกต้นตอ ทำให้ภาวะโรคนี้ยังคงเกิดขึ้น และเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน”

อีกทั้งราคาหน้าฟาร์มที่เคยมีปัญหาถูกกดราคา ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้เลี้ยงแบกรับต้นทุนจนถอดใจหันไปทำอาชีพอื่น และช่วงนี้จะเข้าสู่เทศกาลกินเจ 17-25 ต.ค. นี้ ทำให้ส่วนหนึ่งงดบริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลให้ความต้องการ บริโภคเนื้อหมูลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ก็ชี้แจงแล้วว่า โรคที่เกิดเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคได้ตามปกติและปลอดภัย แต่ตามธรรมชาติผู้คนพื้นที่พบการระบาดของโรค จะเริ่มไม่มีหมูขาย มาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด ด้วยการทำลายหมู และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามเขต ทำให้บางพื้นที่ราคายังสูงกว่าราคาควบคุม

“ดังนั้นการตรึงราคาหมูมีชีวิตไม่เกิน 80 บาท เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ทั้งที่หมูขาดแคลน กลุ่ม ฟาร์มเลี้ยงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายการป้องกันโรคที่ต้องแบกรับ ไม่ต่ำกว่าตัวละ 200 บาท เพื่อป้องกันทั้งโรคเพิร์ส และโรคเอเอสเอฟ ทุก ๆ ที่ต้องร่วมป้องกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามภาวะตลาด คนเลี้ยงอยู่ได้ไม่ต้องรอวันเจ๊ง ผู้บริโภคก็ไม่ซื้อหมูแพง ในหลาย ๆ พื้นที่”

ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ แจ้งว่า ราคาสุกรมีชีวิตยืนราคาที่ กก.ละ 79-80 บาท ลูกสุกรน้ำหนัก 16 กก. ราคาอยู่ที่ 2,800 บาท/ตัว (บวก/ลบ 80 บาท) แนวโน้มคาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัวปศุสัตว์

ทั้งนี้ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจกองสารวัตรและกักกัน ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศ ไม่ให้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กรณีนำซากสัตว์เข้ามา โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณี เคลื่อนย้ายซากสัตว์ข้ามจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่ เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เพราะที่ผ่าน ๆ มามีผู้ร้องเรียนผ่านกรมปศุสัตว์ ว่ามีการลักลอบนำเนื้อสุกรมาปลอมแปลงให้เหมือนเนื้อโค จำหน่ายแบบออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมีร้านชาบู ร้านค้าเนื้อสัตว์ และร้านอาหารอีสานทั่วประเทศ สั่งเนื้อสัตว์เถื่อนเหล่านี้ เป็นการซ้ำเติมตลาดเลี้ยงสุกรในบ้านเราอีก”

ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำทุกพื้นที่ ติดตาม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโรคเพิร์ส ซึ่งเป็นโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ ที่ติดต่อเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายกับคน แต่สร้างความเสียหายในฟาร์มเลี้ยงสุกรของเกษตรกรมาก เพราะการรักษายังไม่มียาแบบเฉพาะ ไม่มีมาตรฐานแบบฟาร์มใหญ่ ๆ

โดยในเขตภาคเหนือพบระบาดใน 7 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง และแพร่ โรคนี้ต้องทำลายหมู รวมถึงฟาร์มที่อยู่โดยรอบในรัศมีตั้งแต่ 1- 5 กม. ที่พบสัตว์ป่วย ตามความรุนแรงของการแพร่ระบาด เป็นมาตรฐานการป้องกันการระบาดโรคสัตว์ของกรมปศุสัตว์ รวมถึงต้องหยุดพักเล้าไม่นำหมูเข้าเลี้ยง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด และไม่ให้สร้างความเสียหายในวงกว้างต่อไป ตลอดจน ทุกพื้นที่จะมีการบูรณาการแผนร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่นตรวจเขียงจำหน่ายเนื้อสัตว์ และให้คำแนะนำการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่า เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้บริโภคในพื้นที่ ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น