กรมอนามัย แนะประชาชนพื้นที่น้ำท่วม เร่งตรวจสอบความเสียหาย-ระบบไฟฟ้า–ทำความสะอาดบ้าน หลังน้ำลด กำจัดเชื้อรา

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนพายุโซนร้อน “นังกา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 14 – 16 ตุลาคมนี้ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี รวมทั้งทุกศูนย์อนามัยที่ยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือและลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยและสร้างสุขอนามัยที่ดี ในช่วงประสบภัยน้ำท่วม และสำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำท่วมกลับคืนสู่สภาวะปกตินั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่ เร่งทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วงน้ำท่วม น้ำจะพัดพาสิ่งสกปรก มาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยด้วยการรื้อและล้างให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราซึ่งพบได้หลังน้ำลดตามบริเวณพื้น ฝาผนัง เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับการรื้อและล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน ส่วนตู้ไม้ที่ชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้อีก ควรรวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกันเพื่อรอการกำจัดจากหน่วยงานราชการต่อไป

 

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ก่อนเข้าไปในบ้านต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหายและมั่นใจว่าโครงสร้างของบ้านมีความมั่นคงแข็งแรง เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและลดกลิ่นเหม็นอับ ส่วนเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยการนำไป ตากแดด ส่วนในกรณีบ้านที่น้ำท่วมปลั๊กไฟภายในบ้าน หลังน้ำลดแล้ว เมื่อเข้าบ้านไม่ควรเปิดเบรคเกอร์ที่เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟตัวนั้นทันที เนื่องจากในปลั๊กไฟจะมีความชื้นหรือยังชุ่มน้ำอยู่ อาจเกิดไฟฟ้าช็อตหรือลัดวงจรได้ ควรตรวจสอบด้วยเครื่องวัดไฟฟ้าก่อนหรือติดต่อช่างไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัย ​“สำหรับการกำจัดเชื้อราในบ้านที่ผ่านน้ำท่วมขังนั้น ทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด 2) ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง และ 3) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย โดยต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยางและรองเท้าบูททุกครั้ง หลังจากการล้างทำความสะอาดบ้าน และกำจัดเชื้อราแล้ว ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยดี” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น