6 ศิลปินกลุ่มศิลป์ธรรม 90 ผลงานในนิทรรศการศิลปะ “จิตรประติมาธรรม” ณ หอศิลป์ริมน่าน

ศิลปินกลุ่ม “ศิลป์ธรรม” จำนวน 6 คน เป็นการรวมตัวของศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีใจมุ่งมั่นตั้งปณิธานร่วมกันที่จะสืบทอดพระธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาแห่งพุทธศาสนา ผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบเฉพาะตน ด้วยเทคนิคจิตรกรรม ประติมากรรมดินเผา ในนิทรรศการศิลปะ “จิตรประติมาธรรม” ณ หอศิลป์ริมน่าน จังหวัดน่าน ในวันที่ 10 ตุลาคม ถึง 3 พฤษจิกายน 2563 มีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการจำนวนกว่า 90 ผลงาน โดยได้มีพิธีเปิดนิทรรศการ ในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 เวลา 18.30 น. ที่ผ่านมา

มานิตย์ โกวฤทธิ์ จบการศึกษาจากสาขาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีแนวทางการสร้างงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบเรื่องราวในผลงานที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลาและสภาวะจิตใจ เช่น ผลงานชุดบรรยากาศแห่งความศรัทธา เป็นการแสดงออกทางความคิดความรู้สึกแบบศิลปะไทย บรรยายภาพบรรยากาศอันสงบร่มเย็นแบบล้านนา ด้วยโทนสีเขียวอมเหลือง-น้ำตาล ด้วยเทคนิคสีอะครีลิค-ทองคำเปลวบนผ้าใบ บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติตอนต่างๆ ,12 ปีนักษัตร และบัว 4 เหล่า ที่มีกระบวนการสร้างสรรค์งานด้วยการแต้มสีเป็นลักษณะทีพู่กันน้อยใหญ่ แสดงถึงสมาธิในขณะจิตของตน เกิดเส้นสายที่พลิ้วไหวให้ความรู้สึกเคลื่อนที่ไปตามอารมณ์ของศิลปิน แล้วทับซ้อนด้วยแสงและเงาอีกชั้นเพื่อถ่ายทอดความคิดความรู้สึกผ่านงานจิตรกรรมของตน


กิตติศักดิ์ ฝั้นสาย ศิลปินหนุ่มเลือดเนื้อเชื้อไขจากสาขาพุทธศิลปกรรมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ จบการศึกษามาจากภาควิชาศิลปะไทยคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคปั้นดินเผา โดยใช้วิธีการทางเชิงช่างโบราณที่ตนเองผูกพันมาแต่เยาว์วัยผสมผสานกับความคิดแบบสมัยใหม่ เป็นเรื่องราวการปฏิสนธิของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ การเสื่อมของสังขาร ที่กำลังดับสลายให้เกิดจินตนาการ และความหมายทางพุทธิปัญญา การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกด้วยรูปร่าง รูปทรง ที่อิสระของดินเผา ที่สะเทือนจิตใจของผู้ดู เพื่อกระตุ้นเตือนให้รับรู้ถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งปวง
ยี่ ดวงติ๊บ ศิลปินรุ่นใหม่เชื้อสายไต เดินทางข้ามน้ำข้ามแผ่นดินมาเล่าเรียนวิชาศิลปะ เป็นรุ่นที่1 ที่สาขาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ด้วยการดำรงเพศบรรพชิตจนจบการศึกษาด้านศิลปะเชิงพุทธโดยตรง จากนั้นได้สร้างสรรค์งานศิลปะของตนควบคู่ไปกับงานศิลปะเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ยี่ ดวงติ๊บ นำเอาเรื่องราวความศรัทธา หลักคำสอน ประเพณีวิถีชีวิตของชนชาวไตที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานแบบกึ่ง2 มิติและ3 มิติ เป็นภาพพระศรีอริยเมตไตรยลักษณะต่างๆแบบไทยประเพณีที่มีจริตความคิดความรู้สึกของตนเข้าไปอยู่ในผลงานได้อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติของชนชาวไต


ชัยวัฒน์ รชยวงศ์ชัย ศิลปินชาวจังหวัดน่าน ศิษย์สาขาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่อีกคนหนึ่ง ด้วยความเป็นบรรพชิตมาหลายปีจึงได้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพระไตรปิฎก ชาดกและพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างละเอียด พร้อมด้วยความศรัทธาในพระศาสนาของตน ชัยวัฒน์จึงหยิบยกเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาผสมผสานรวมกับลักษณะงานจิตรกรรมไทยพื้นถิ่นโบราณของเมืองน่านมาสร้างเป็นศิลปะไทยร่วมสมัยเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค ทองคำเปลวบนผ้าใบ ที่มีลักษณะพิเศษออกทางลายเส้นเล็ก ค่อยๆขีดเขียนจนเต็มภาพ ซึ่งแสดงถึงความปิติ สงบ และสมาธิ ที่ ชัยวัฒน์ ต้องการถ่ายทอดผ่านงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีของเขา


สุรพล พงษ์พูนวิวัฒน์ ศิลปินรุ่นใหม่ชาวปกาเกอญอที่มุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านการอุปสมบทมาเป็นเวลาหลายปีจนจบการศึกษาจากสาขาพุทธศิลป์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา ลัยวิทยาเขตเชียงใหม่ หลังจากการลาสิกขาบท ได้สร้างงานศิลปะอย่างต่อเนื่องด้วยการนำอัตลักษณ์ประเพณี พิธีกรรม วิถีการแห่งานบุญใหญ่ด้วยความศรัทธาของชาวปกาเกอญอมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานแบบไทยประเพณี ผ่านความรู้สึกของสุรพลด้วยทัศนธาตุทางศิลปะให้เลื่อนไหลกลมกล่อม สัมผัสรสชาติของงานศิลปะประจำชนเผ่ากับศิลปะไทยกลมกลืนไปด้วยกัน ให้ได้อรรถรสไปอีกมิติของงานจิตรกรรม


ชรินทร์ อินตา ศิลปินรุ่นใหม่ผู้นำเอาการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของตนมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานรูปแบบศิลปะไทย การผสมผสานทางลายเส้นงานจิตรกรรมไทยกับการสร้างบรรยากาศความสงบ ผ่านสายลมพัดเบา เหมือนได้ยินเสียงให้รู้สึกสบายตา สบายใจ ชรินทร์จบการศึกษาจากสาขาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เช่นเดียวกันกับศิลปินในกลุ่มศิลป์ธรรม ทั้งนั้น จะมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องภูมิธรรมมาพอสมควร ผลงานบางชิ้นเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมศาสนสถานเป็นส่วนประกอบหลักของภาพ ที่สื่อให้เห็นถึงความมั่นคงของจิตในความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ที่ต้องการถ่ายทอดอารมณ์ความคิดความรู้สึกผ่านผลงานจิตรกรรมของ ชรินทร์ อินตา


นิทรรศการศิลปะ “จิตรประติมาธรรม” โดย ศิลปินกลุ่ม “ศิลป์ธรรม” ศิลปินทั้ง 6 คนจึงได้ร่วมวาดภาพงาน 3 มิติบนผืนผนังในนิทรรศการศิลปะอีกด้วย เพื่อสะท้อนความคิดและผลงานลักษณะส่วนตัวในนิทรรศการเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกศรัทธาที่ศิลปินทุกคนมีต่อพระพุทธศาสนาร่วมกัน การนำพระธรรมคำสอน พุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสร้างผลงานศิลปะด้วยเทคนิควิธีการส่วนตน ซ่อนนัยทางนามธรรม ความงาม อุดมคติ วิถีความเชื่อภายในของศิลปินแต่ละคนที่ได้มุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่สาธารณะ ขอเชิญไปร่วมชมผลงานกันได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น