ทบทวนแผนลงทุนเชียงใหม่ ฉุดความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเมือง ชาวบ้านฝันสลาย

อดีตที่ปรึกษาหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ )กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้
หากไม่เร่งแก้ไขโดยสันติวิธี หรือหาทางออกที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย จะส่งผลกระทบตามมาหลายมิติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจและสังคม

ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ปรากฎตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนตุลาคม ที่
หน่วยงานต่างๆรวบรวม สอดคล้องตรงกันว่า เศรษฐกิจลดมาที่ระดับ 35.4 ภาคเกษตร ทรงตัวที่ 50 ภาคอุตสาหกรรม 43.8 และการจ้างงาน 34.6 ที่วิกฤตสุดคือ ภาคบริการอยู่ที่ 20 และการลงทุน 28.6

” ดัชนีการลงทุน มีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการชลอตัว เพราะรอดูท่าทีโครงการต่างๆจากรัฐฯ เมื่อหลายๆโครงการ
ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 , รถรางไฟฟ้ารางเบา ที่มีการทุ่มงบศึกษาความเหมาะสม เกิดภาพในความหวังของกลุ่มลงทุน และชาวบ้านว่า ปี 2564-65 นั้น น่าจะเป็นไปตามแผน พอแผนงานถูกทบทวน ด้วยข้ออ้างไม่คุ้มทุน ไม่ใช่เวลาที่จะมีการลงทุน ภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนซื้อที่ดิน รอสร้างโครงการหรือ ซื้อมาขายไป กระทบหมด”


ผู้ประกอบการภาคบริการติดตั้งป้ายโฆษณา ในเชียงใหม่ระบุว่า งานลดหดหายไปกับนวัตกรรม ความทันสมัยของช่องทางการตลาดออนไลน์ ป้ายบิลบอร์ด เกือบทุกแยกสำคัญๆ ในเส้นทางสายหลักๆของเชียงใหม่ ว่างเปล่าไม่มีลูกค้า ใครพอมีทุนสายป่านยาวก็เช่าไว้ ที่ไม่ไหวก็ปล่อยเปลี่ยนมือ

” คาดหวังเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีเม็ดเงินจากรถแห่ ทำป้ายไวนิลบ้าง ทุกอย่างก็ยังต้องรอ เพราะสถานการณ์แบบนี้มี ม๊อบรายวัน ถึงขั้นผู้ว่าจ้างที่ติดต่อไป ยังไม่แน่ใจว่า 20 ธ.ค.นี้จะมีเลือกตั้งได้หรือไม่ กลัวจะมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ”


นอกจากนั้นโครงการขนาดใหญ่ๆจะมีส่วนงานรับผิดชอบ ทำโฆษณา จัดกิจกรรม หันไปว่าจ้างกลุ่มฟรีแลนซ์ นำงาน
ไปพิมพ์ตามร้านเล็กๆ จ้างเหมาติดแบบป้ายเถื่อน ไม่ขออนุญาตตามรายทางสายสำคัญๆ เพื่อประหยัดต้นทุน
ด้านกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ในเชียงใหม่ กล่าวว่า งานก่อสร้างขนาดใหญ่ๆเริ่มลดลง ส่วนมากจะเป็นโครงการขนาดเล็ก
งานต่อเติม และรับช่วงงานรับเหมา ถ้าผู้รับเหมาไม่มีทุน ขาดสภาพคล่อง หวังเครดิตสินค้าจากร้านวัสดุก่อสร้าง แทบจะอยู่ในวงการนี้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งในอำเภอรอบนอก ร้านวัสดุก่อสร้าง จะเป็นผู้รับเหมาท้องถิ่นทั้งนั้น

” งานหน่วยงานราชการ บรรดาลูกน้อง หัวคะแนน ผู้บริหารท้องถิ่นทั้งนั้น ที่ยื่นซอง แข่งประมูลงานหรือ มีสายสัมพันธ์ จัดซื้อจัดจ้างกับแหล่งต่างๆ กิจกรรม โครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนด้วยงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน ที่เป็นแผนงานกระจายรายได้สู่ชุมชนก็ยากที่จะเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการรับงาน แบบรับช่วงงานต่อ ถ้าไม่ใช่วงในจริงๆ”

ทั้งนี้อดีตที่ปรึกษาอดีตที่ปรึกษาหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ )กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูล
สรุปข้อเสนอโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯหรืองบ 4 แสนล้าน มี46,411 โครงการ วงเงิน 1,448,474 ล้าน ขณะนี้อนุมัติไป186 โครงการ วงเงิน 92,400 ล้านบาท

เป็นแผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,400 ล้านบาท 2 โครงการ ในส่วนเชียงใหม่นั้น
เท่าที่เห็นจะเป็นงบของแต่ละหน่วยงาน ที่เสนอแผนประจำปีงบประมาณ เข้าไป ซึ่งช่วงไตรมาส 4 ถ้าเร่งดำเนินการน่าจะช่วยให้บ้านเมืองมีแนวโน้มดีขึ้น


” ตราบใดที่โรคโควิด 19 ยังไม่มีวัคซีนระงับ ความวิตกกังวลจากมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบ
กับ ภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทุกดัชนีไม่ทรงตัว ก็มีแนวโน้มลดลงทั้งนั้น ยิ่งการจ้างงาน ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการทุกๆที่ไม่เฉพาะเชียงใหม่ กระทบหมด ไม่ต้องอ้างอิงรายงานฉบับไหน มองภาพปัจจุบันก็เห็นๆกันอยู่ว่า ทุกอย่างนิ่งงัน ชลอตัว ขนาดเทศกาลกินเจปีนี้ การจับจ่ายยังน้อยกว่าทุกปี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรม ตามเมืองต่างๆที่จัดเป็นเทศกาลท่องเที่ยวด้วย ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น