เรือนจำกลางเชียงราย ประกอบพิธีปิดโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 3

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 3 เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 3 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วให้สามารถดำเนินชีวิต ดำรงชีพ และประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ทุกเงื่อนไขของพื้นที่ และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก

สำหรับเรือนจำกลางเชียงราย โดย นายสมคิด ปริมิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย นำผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมการฝึกโครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ที่เป็นคนไทย จำนวน 50 คน และที่เรือนจำอำเภอเทิง อำเภอเทิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 3 มีผู้ต้องขังผ่านการอบรม จำนวน 100 คน

โดยการนี้ ได้จัดการปฏิบัติฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ในระว่างวันที่ 5 ตุลาคม ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2563 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นตอนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริงมีขนาด 250 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม ขั้นตอนที่ 3 การสรุปและประเมินผล

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากนี้แล้วผู้ต้องขังที่จะรับการพ้นโทษในโอกาสต่อไปจะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น