เชียงใหม่เตรียมพร้อม ทำแผนจัดการไฟป่าฯ 3 อุทยาน กับ 1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ย้ำ “ไฟป่า หมอกควัน คือ ภารกิจของ อปท.”

วันที่ 20 ต.ค. 63 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแผน และขับเคลื่อนความร่วมมือการจัดการไฟป่าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอท้องที่ ในพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง เข้าร่วมประชุม

นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการ ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 63 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนความร่วมมือ การจัดการไฟป่าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว พร้อมกันนี้ ยังได้มีประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 โดยแต่งตั้งให้ ทสจ.เชียงใหม่ เป็นฝ่ายเลขานุการคณะที่ปรึกษาคณะทำงาน

ทั้งนี้คณะทำงานฯ ทั้ง 4 คณะ อันได้แก่ คณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จะมีนายอำเภอจอมทอง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นเลขานุการ คณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงาน รองประธานคณะทำงานประกอบด้วย นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ นายอำเภอแม่แตง นายอำเภอแม่ริม และนายอำเภอหางดง มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นเลขานุการ คณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีนายอำเภอพร้าวเป็นประธานคณะทำงาน นายอำเภอเชียงดาว เป็นประธานคณะทำงานร่วม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นเลขานุการ และคณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีนายอำเภอเชียงดาวเป็นประธานคณะทำงาน นายอำเภอเวียงแหงเป็นประธานคณะทำงานร่วมฯ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นเลขานุการ โดยในแต่คณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ มีผู้อำนวยการส่วนที่รับผิดชอบพื้นที่ จาก สบอ.16 จนท.จากท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรอำเภอ สถานีควบคุมไฟป่า นายก อปท. กำนันท้องที่ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะทำงาน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานจัดทำแผนและขับเคลื่อนฯ ทั้ง 4 คณะนี้ มีหน้าที่ในการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในการจัดทำแผนจัดการไฟป่าแบบบูรณาการ ให้ครอบคลุมพื้นที่อุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ๆ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมชัดเจน พร้อมกันนี้ให้ทำการศึกษารูปแบบและจัดทำแผนการท่องเที่ยว โดยชุมชนอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ เสนอกติกาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพของอุทยานนั้น ๆ และสนับสนุนการจัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับชุมชนในหมู่บ้านที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเหมาะสม

ส่วนแนวทางในการจัดทำแผนจัดการไฟป่าแบบบูรณาการ ให้ครอบคลุมพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ใกล้เคียง ประเด็นสำคัญที่มีการหารือในที่ประชุมครั้งนี้คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า ทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ เนื่องจากทั้งสภาพอากาศ ภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ มีความแตกต่างกัน โดยเริ่มจัดการเชื้อเพลิงได้ในพื้นที่อำเภอโซนใต้ของจังหวัดก่อน ซึ่งจะจัดการเชื้อเพลิงในป่าได้ในช่วงเดือนมกราคม ขยับไปโซนกลางราวเดือนกุมภาพันธ์ และพื้นที่อำเภอโซนเหนือ จะจัดการได้ราวเดือนมีนาคม ซึ่งที่ประชุมให้มีการศึกษาความเป็นไปได้จากข้อมูลผลการศึกษาต่าง ๆ ที่ได้เคยศึกษาไว้ก่อนแล้ว เพื่อบรรจุไว้ในแผนจัดการไฟป่าแบบบูรณาการฯ ที่จะดำเนินการในปี 2563-2564 นี้ และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการในปีต่อ ๆ ไปได้ รวมถึงจะใช้เป็นข้อมูลในการประกาศห้ามเผาเด็ดขาดด้วย ทั้งนี้การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า สามารถดำเนินการได้เพียง 40% ของพื้นที่เท่านั้น

อีกประเด็นคือ การควบคุมไฟป่า ที่ประชุมได้มีการหารือตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการบังคับใช้แผนการกระจาอำนาจ ให้แก่องค์กรปครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีการระบุขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการควบคุมไฟป่าไว้อย่างชัดเจนว่า อปท. สามารถดำเนินการได้ ซึ่ง นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องไฟป่า หมอกควัน ขอย้ำว่าเป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถให้เงินอุดหนุนผ่านไปทางคณะกรรมการหมู่บ้านได้ โดยที่หมู่บ้านนั้นต้องจัดทำแผนหมู่บ้าน ในการบริหารจัดการไฟป่าหมอกควันของหมู่บ้านตน เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจาก อปท. ประเด็นสำคัญก็คือ แผนการจัดการไฟป่าหมอกควันของหมู่บ้านหรือชุมชน จะได้รับการรับรองจากหน่วยงานได้อย่างไร ซึ่งคณะทำงานฯ ทั้ง 4 คณะนี้ต้องช่วยกันคิด ส่วนแผนจัดการไฟป่าแบบบูรณาการให้ครอบคลุมพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ใกล้เคียงของทั้ง 4 พื้นที่นำร่องนี้ กำหนดให้ทุกคณะจัดทำให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 15 พ.ย. 63 นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น