เจ้าดารารัศมี พระราชชายาใน “พระพุทธเจ้าหลวง”

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ เปิดเผยบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราว เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ “เจ้าหลวงเชียงใหม่” กับเจ้าทิพเกสร พระนามว่า “เจ้าดารารัศมี” มีพระ
เชษฐภคินีร่วมพระอุทร คือ เจ้าจันทรโสภา เป็นพระธิดาที่ถือว่ามีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระเชษฐาและพระภคินี ที่ประสูติจากเจ้าแม่องค์อื่น ๆ ด้วยมีเชื้อสายวงศ์เจ้าเจ็ดตน ทั้งทางพระบิดาและพระมารดา ปีประสูติ พ.ศ. 2416 นั้น มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในแผ่นดินล้านนา หนึ่งนั้นเป็นกรณีอังกฤษเข้ามาเจรจาขอให้สยามแก้ไขปัญหาการป่าไม้ในเชียงใหม่ จนนําไปสู่การลงนามในสัญญาเชียงใหม่ อีกเรื่อง คือ เป็นปีสุดท้ายของการดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแผ่นดินสยามของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และปีนี้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลําดับที่ 7 ยังอยู่ในสถานะเจ้าอุปราชอินทนนท์ รักษาการในตําแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สืบต่อจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399-2413) ต่อมาเดินทางมายังกรุงเทพ เพื่อลงนามในหนังสือสัญญาว่าด้วยการที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะทําการรักษาบ้านเมืองให้เรียบร้อย เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการปกครอง

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ในระยะแรกของการขึ้นครองราชย์ มีการสู่ขอธิดา ของขุนนางผู้มีอำนาจ หรือเจ้าเมืองต่าง ๆ มาเป็นเจ้าจอมอันเรื่องราวที่ยุคสมัยนี้เรียก “ข่าวลือสนั่นเมือง”และย้อนมานำเสนอผ่านสื่อสังคมว่า “ควีนวิคตอเรียแห่งอังกฤษ” จะทรงขอรับเจ้าดารารัศมี ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมและสถาปนาให้เป็น เจ้าในเชื้อพระราชวงศ์อังกฤษ เป็นพิเศษ และจะสถาปนาเป็น “ปริ๊นเซสออฟเชียงใหม่” นั้น เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ลุล่วงมา 137 ปี ข้อสันนิษฐานเชิงประวัติศาสตร์ล้านนาอีกบทหนึ่งยังตั้งคำถามว่า หากเป็นไปเช่นนั้นโฉมหน้าเชียงใหม่ในวันนี้จะเป็นอย่างไร หากการถวายตัว “เจ้าดารารัศมี” จะไม่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2429 ซึ่งหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายเชียงใหม่และฝ่ายกรุงเทพฯ คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 ที่มีการโจษจันเรื่องดังกล่าว และเจ้าดารารัศมีมีพระชนม์ได้ 11 ชันษา รัฐบาลสยามมีคําสั่งให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เจ้าดารารัศมี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 เมื่อ 23 พ.ย. 2426 พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร ให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสร ดังข้อความว่า

“เรื่องโกนจุกนั้น…เรารับไว้ว่าจะทําขวัญ จึงได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนําไปทําขวัญแต่ต้องชี้แจงให้ทราบว่า ธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทําขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี…เป็นแต่เมื่อบุตรข้าราชการ ถวายตัวทําราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก”

 

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา อธิบายว่า “เรื่องนี้ได้สร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่า มิใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา แต่หมายความถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ หมั้นหมาย การนี้แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะมิใช่แบบอย่างประเพณี
ของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีเพียงเจ้าดารารัศมีพระองค์เดียวที่เข้าพิธีนี้ ซึ่งเป็นราชประเพณีของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี จากนั้นใน พ.ศ. 2429 ก็มีการถวายตัวเจ้าดารารัศมี อย่างเป็นทางการ ในบันทึกประวัติศาสตร์ เชียงใหม่ ระบุว่า มิสเตอร์อาเชอร์ กงสุลอังกฤษ ขณะนั้นกล่าวถึงการถวายตัวของเจ้าดารารัศมีว่าเป็น “ก้าวย่างที่สำคัญต่อนครเชียงใหม่และแผ่นดินสยาม” การเข้ามาเป็นฝ่ายในของเจ้าดารารัศมี เริ่มต้นด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระราชอุปถัมภ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และประทับ ณ พระที่นั่งดํารงสวัสดิ์ อนัญวงศ์ ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังทรงขอพระบรมราชานุญาตสร้างพระตำหนักของพระองค์เอง โดยใช้เงินของพระเจ้าอินทวิชยานนท์นนท์ เป็นตำหนักขนาดใหญ่ก่ออิฐฉาบปูนสูง 4 ชั้น โดยสร้างแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกภายในตกแต่งด้วยไม้สักที่ส่งมาจากเมืองเชียงใหม่

พ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมี ขณะมีพระชนม์ 16 ชันษา ประสูติพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี” และรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น “เจ้าจอมมารดา”
เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435

พ.ศ. 2451 พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ต่อมาเสด็จลงมาเฝ้ารัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีจึงกราบบังคมทูลลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติเป็นครั้งแรก หลังจากจากมาเป็นเวลา 21 ปี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น “พระราชชายา” ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรีนับแต่นั้นมา และในการเสด็จกลับมายังนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง “พระอัครชายาเธอ”

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ พระนามว่า “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5
ในเวลานั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทรงช่วยจัดการพระบรมศพ ร่วมกับเจ้านายและเจ้าจอมหม่อมห้าม จนเป็นที่เรียบร้อย พระราชชายาฯ ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลากว่า 23 ปีเศษ

นับแต่สิ้นรัชกาลก็ยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด กระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เสด็จฯ เมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2457 และถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับเป็นเวลานานถึง 20 ปี

พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงรอบรู้ เรียนรู้ ศาสตร์ วิทยาการต่าง ๆ ทรงค้นคว้าและรวบรวมประวัติศาสตร์ล้านนาไว้มาก เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ ทรงจงรักภักดีต่อพระบรมวงศ์จักรี นำวิทยาการความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จาก “วังหลวง” ในสถานะ พระราชายาแห่งพระพุทธเจ้าหลวง “มาสู่เวียงเชียงใหม่ สร้างคุณานุคุณ อเนกอนันต์ แม้สิ้นพระชนม์ชีพไป พระคุณที่บังเกิดในราชกรณียกิจต่าง ๆ ยังคงเป็นร่มเงา ใบบุญแผ่ขจรขจาย ดั่งดวงดาราทอแสดง ในเส้นทางที่มืดมน สู่หนทางสว่างไสว ในบ้านเมืองนิรันดร์กาล

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น