(มีคลิป) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เจ้าภาพ จัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย และส่วนราชการ จ.เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน “พลังอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2563 ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย และส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนเรื่อง “พลังอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักบริหาร มหาวิทยาลัยสายวิชาการระดับสูง (นบม.)และผู้มีเกียรติทุกท่าน ร่วมประชุมจำนวนมาก

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน สำหรับแนวคิดขับเคลื่อน “ไทยไปด้วยกัน” เป็นแนวคิดในการติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีกลไกการดำเนินงาน ดังนี้

1) ระดับอำนวยการ โดยคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมอบหมายรัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด และ 2) ระดับพื้นที่โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ติดตามรับฟังและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในระดับจังหวัด ตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้เห็นความจำเป็นในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ด้วยกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกองค์กร ด้วยการรณรงค์ลดการใกล้ชิด ลดการสัมผัสกัน และเว้นระยะห่างทางสังคม กิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่ง คือ การอบรมการทำหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนกว่า 50 ล้านชิ้น ทำให้คนไทยทุกคนสามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่ ปลอดการติดเชื้อ รวมทั้งการดำเนินงาน Local Quarantine ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุข จึงขอให้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้ประชาชนและประเทศไทยปลอดการติดเชื้อโควิด-19

ดังนั้นภาควิชาการมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และทิศทางการพัฒนาของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมาย โดยอาศัยสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตและพัฒนา กำลังคน ในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ งานวิจัยที่สามารถนำไปสร้าง องค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ต่อไป

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ประชุมเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ในการติดตาม รับฟัง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในจังหวัด และจัดให้มีการตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม รวดเร็วและทันเหตุการณ์ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถหรือศักยภาพของจังหวัด ให้รายงานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงแนวคิดวิถีชีวิตใหม่และการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

อีกทั้งยังสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เห็นความจำเป็นในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการประสานการปฏิบัติ และติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน และได้ร่วมกันหารือในเรื่องการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนการทำงาน  ทั้งการสร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมทั้งมาตรการการรองรับในด้านต่างๆ ในขณะเดียวกันยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จังหวัดเชียงใหม่พร้อมรับนโยบายและถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ และร่วมขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

รศ.ดร.วีระพล  ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 จะมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2577 ปัจจุบันได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 60 หลักสูตร ระดับปริญญาโท จำนวน 29 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก จำนวน 16 หลักสูตร มีนักศึกษา จำนวน 14,423 คน บุคลากรทั้งหมด จำนวน 1,667 คน ได้ดำเนินภารกิจการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการวิชาการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และมีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่มีเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า ผันผวน รวดเร็วและรุนแรง ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยจึงได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ ให้สามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันได้ในระดับสากล ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารงาน เพื่อให้มีทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย โดยได้พัฒนาแผนแม่บทการเปลี่ยนผ่านในกรอบระยะเวลา 17 ปี เพื่อให้มีทิศทางและแนวทางที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย ในปี พ.ศ. 2577 และต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านแม่โจ้ ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และร่วมกันพัฒนา

การแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาตามจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2. กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และ 3. กลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอยู่ในกลุ่ม 2 คือกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างผู้ประกอบการและต่อยอดสู่ SMEs สตาร์ทอัพ เพื่อไปพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

การขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลได้มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้แถลงนโยบายในการปฏิรูปอุดมศึกษา ไปแล้วนั้น

เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมาย จึงได้จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย และส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เรื่อง “พลังอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดนโยบายการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน สู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ผ่านการร่วมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และได้นำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ และระดับนานาติ พ.ศ. 2555-2563 จัดแสดงนิทรรศการในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ และหลังจากการสัมมนา ทุกท่านจะได้ศึกษาดูงาน พื้นที่ต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ พื้นที่ฟาร์มเกษตรและแปรรูปเพิ่มมูลค่าอย่างครบวงจร นำไปสู่เครือข่ายการทำงานในการขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษา และพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกันให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และผู้บริหารที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักบริหารมหาวิทยาลัยสายวิชาการระดับสูง (นบม.) จำนวน 200 คน และมหาวิทยาลัยจะได้นำข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนา ถ่ายทอดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างร่วมกันเป็นรูปธรรม ในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมใหญ่สามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2563 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ร่วมแสดงความคิดเห็น