เชิญเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. หนึ่งในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น Museum Thailand Awards 2020

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น Museum Thailand Awards 2020 ตั้งอยู่บนถนนคันคลองชลประทาน (ตรงข้ามตลาดต้นพยอม) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมและอนุรักษ์กลุ่มเรือนโบราณล้านนา ซึ่งมาจากกลุ่มชนคนไท (ไต) ในล้านนา (เรือนลุ่มแม่น้ำปิง) โดยเจ้าของเรือนและทายาทได้บริจาคไว้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา โดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินการรื้อถอน ขนย้าย และนำมาปลูกสร้างใหม่ไว้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา และได้อนุรักษ์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเรือนทุกหลังให้คงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เรือนทุกหลังจะมีอายุเกือบร้อยปีและมากกว่าร้อยปี และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างกันตามยุคสมัยหรือช่วงเวลาที่ปลูกสร้าง นับได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นและประเทศชาติ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ ฯ ได้จัดแสดงเรือนโบราณล้านนา 10 หลัง และยุ้งข้าวล้านนา 4 หลัง และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนาที่สมบูรณ์ สำหรับการให้บริการแก่สาธารณชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ได้มาเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่น และสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท (ไต) ในล้านนา

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ตั้งอยู่บนพื้นที่กลางแจ้งกว่า 7 ไร่ ในบริเวณโดยรอบจะมีต้นไม้น้อยใหญ่นานาพรรณ ทำให้มีบรรยากาศสงบและร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ มองเห็น และสัมผัสรูปแบบและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเรือนโบราณทุกหลังอย่างใกล้ชิด และได้เรียนรู้ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งข้าวของ เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพถ่าย และองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรือนที่มีความเชื่อมโยงกับ  วิถีชีวิตของผู้คนในอดีต ผู้เข้าชมจะสามารถจินตนาการและย้อนระลึกถึงความเป็นอยู่ของคนล้านนาผ่านเรือนโบราณ ประกอบด้วย 1. เรือนทรงอาณานิคม (ป๋าคิว) 2. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) 3. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 5. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 6. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) 7. เรือนพื้นถิ่นแม่แตง 8. เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) 9. เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง 10. เรือนเครื่องผูก รวมทั้งยุ้งข้าวสารภี ยุ้งข้าวเปลือย ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์ (เลาหวัฒน์) และยุ้งข้าวป่าซาง (นันทขว้าง)

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ยังมีบริการด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้รับบริการทุกเพศ ทุกวัย ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) การจัดบรรยายการสัมมนาทางวิชาการ และกิจกรรมพิเศษ (event) เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับความรู้ ประโยชน์ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่อไปได้

วันเวลาเปิดทำการพิพิธภัณฑ์ ฯ : ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.30 -16.30 น. (ปิดทำการ ในวันหยุดนักขัตฤกษ์)อัตราค่าเข้าชม :- บุคคลทั่วไป คนละ 20 บาท- นักเรียน นักศึกษา และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 10 บาท- พระภิกษุ และผู้มีอายุต่ำกว่า 10 ปี เข้าชมฟรี/ยกเว้นค่าเข้าชม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 053 943 625-6

การเดินทาง : พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ถนนคันคลองลประทาน (ตรงข้ามตลาดต้นพยอม/ก่อนถึงสี่แยกไฟแดงตลาดต้นพยอม ประมาณ 50 เมตร)

ร่วมแสดงความคิดเห็น