สธ. Kick off นโยบาย ‘1 จังหวัด – 1 อาหารริมบาทวิถี – 77 ตลาดนัด น่าซื้อ ต้นแบบ’

วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานประกาศ (Kick off) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ : ต้นแบบอาหารปลอดภัย อาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) และตลาดนัด น่าซื้อ (Healthy Market)” ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี ว่า ทุกวันนี้คนไทยมีพฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือน ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจมีความเสี่ยง  จากเชื้อโรค สารเคมี หรือโลหะหนัก และความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่นโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจาระร่วงฉับพลัน เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ : ต้นแบบอาหารปลอดภัย อาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) และตลาดนัด น่าซื้อ (Healthy Market) เน้นย้ำให้ผู้ปรุงประกอบต้องมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ปรุง-ประกอบ เสิร์ฟและจำหน่ายอาหาร โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี และตลาดนัด น่าซื้อ ให้ได้มาตรฐาน ตั้งเป้า ปี 2564 มีต้นแบบ 1 จังหวัด  1 อาหารริมบาทวิถี และตลาดนัด น่าซื้อ ต้นแบบครอบคลุม 77 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนา ดังนี้ 1) พัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ ใช้ป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ (Street Food Good Health) ซึ่งแสดงถึงสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหาร และ 2) สนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดความตื่นตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาตลาดนัดให้ถูกต้องตามกฎหมายจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยขับเคลื่อนการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดนัด น่าซื้อ : ตลาดสะอาดอาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถีประกอบด้วย 4 มิติ คือ 1) มิติด้านสุขภาพ : หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายอาหารในที่หรือทางสาธารณะ และกำหนดจุดผ่อนผันที่อนุญาตให้ตั้งวางแผงลอยจำหน่ายอาหาร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสะอาด   รสชาติอร่อย ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ มีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร 2) มิติด้านเศรษฐกิจ : ราคาถูก (หนูณิชย์ติดดาว) ติดป้ายแสดงราคา มีป้ายบอกชื่อร้านหรือแผงจำหน่าย อย่างน้อย 2 ภาษา ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน 3) มิติด้านสังคม : มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP SME ผู้สูงอายุ ผู้พิการ Young Smart Famer ออแกนิกธรรมชาติ เป็นต้น และ 4) มิติด้านวัฒนธรรม : มีการจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน การแต่งกายประจำถิ่น และมีการแสดงวัฒนธรรมประจำถิ่น ป้าย Story Culture โดยมีถนนอาหารริมบาทวิถีที่เข้าร่วมการพัฒนาในปี 2561-2563 จำนวน 24 จังหวัด มีแผงลอยจำหน่ายอาหารจำนวน 2,900 แผง

“สำหรับเกณฑ์มาตรฐานตลาดนัด น่าซื้อ (Healthy Market) นั้น ประกอบด้วย 3 ระดับ คือ 1) ระดับพื้นฐาน : มีทะเบียนผู้ขายของในตลาด โดยระบุประเภทสินค้าที่จำหน่าย อาหารปรุงสำเร็จต้องมีการปกปิด แผงจำหน่ายอาหาร ผ่านเกณฑ์การตรวจสารปนเปื้อน 4 ชนิด เป็นต้น 2) ระดับดี : จัดให้มีน้ำประปาหรือน้ำสะอาดเพียงพอ จัดให้มีห้องส้วม  ที่ปัสสาวะ และอ่างล้างมือที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ เป็นต้น และ 3) ระดับดีมาก : ทางเดินในตลาดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ผู้ขายของและผู้ช่วยของต้องผ่านการอบรมความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร มีการควบคุมดูแลไม่ให้ เกิดเหตุรำคาญ มลพิษที่เป็นอันตรายหรือการระบาดของโรคติดต่อ โดยตลาดนัดที่เข้าร่วมการพัฒนาต้องเป็นตลาดนัด   ที่ ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีตลาดนัดที่ได้รับตรวจประเมินคุณภาพแล้ว จำนวน 4,646 แห่ง”รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น