สาธารณสุข ย้ำประชาชน ยึดหลัก DMHT สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ตนเองและคนรอบข้าง ชี้คนไทยสวมหน้ากาก ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 67.1%

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ และสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด จากรายงานผู้ป่วยโควิด-19 กว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุ 20-49 ปี ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ซึ่งกลุ่มนี้มักใช้ชีวิตประจำวัน มีกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว เป้าหมายกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ทำให้ผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อจะค้นพบได้เร็ว จำกัดวงการแพร่กระจาย ควบคุมโรคได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เรามีบทเรียน พร้อมรับมือการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป และประชาชนต้องปลอดภัย

“ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีน สิ่งที่ประชาชนจะใช้เป็นเกราะป้องกันโควิด-19 คือ วัคซีน DMHT โดย D : Social Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ที่ออกนอกบ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ H : Hand ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และ T : Testing การตรวจเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคได้เร็ว ปฏิบัติให้ต่อเนื่องจะช่วยป้องกันโรคได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเรื่องโรคโควิด-19 (ดีดีซีโพล) ของกรมควบคุมโรคครั้งล่าสุด เก็บข้อมูลออนไลน์ วันที่ 1 – 14 ตุลาคม 2563 ผู้ตอบแบบสอบถาม 2,670 คน พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพลดลง ทั้งการสวมหน้ากาก เมื่อไม่มีอาการป่วยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง ร้อยละ 67.1 จากที่เคยสูงถึง ร้อยละ 93.5 ในช่วงต้นที่พบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง, สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียง ร้อยละ 81.8 และจะสวมหน้ากากต่อเนื่องลดลงเหลือ ร้อยละ 51.4

ส่วนการล้างมือหลังเข้าห้องสุขา และก่อน-หลังรับประทานอาหาร แนวโน้มคงที่ อยู่ในระดับดี ประมาณ ร้อยละ 70 – 86 การออกไปในที่ชุมชน ไปท่องเที่ยวมากขึ้น โดยการออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เพิ่มจาก ร้อยละ 19.6 เป็น ร้อยละ 30 นอกจากนี้ พบว่าประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 อยู่ โดยกังวลระดับมาก ร้อยละ 29.2 ปานกลางและน้อย ร้อยละ 65.6 ส่วนความเชื่อมั่นมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ ร้อยละ 85.7 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน และเพิ่มจากช่วงแรกที่เกิดสถานการณ์ ซึ่งความเชื่อมั่นอยู่ที่ ร้อยละ 61.8

ร่วมแสดงความคิดเห็น