(มีคลิป) คณะบริหารธุรกิจ มช. นำเทคโนโลยี VR มาใช้กับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เป็นคณะแรกของประเทศไทย

นอกจากการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้การจัดการศึกษาแบบทุกที่ทุกเวลา มีความเป็นไปได้ทั้งด้านอุปกรณ์และความคุ้มค่าของการลงทุนแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เกิดตัวเร่งอันสำคัญซึ่งทำให้เห็นว่า  ไม่ว่าโลกจะสะดุดหรือหยุดหมุน แต่การเรียนรู้ของมนุษย์จะไม่หยุดนิ่ง เป็นที่มาของความพยายามของ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบูรณาการเข้ากัน เพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิผลที่สุด โดยไม่ถูกขัดจังหวะจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหลาย

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา รศ.ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ เปิดเผยว่า คณะของเราถือว่าเป็นคณะแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี VR มาใช้ในการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพื่อทำให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้หรือ Learning Outcome เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาของคณะอย่างเต็มศักยภาพของผู้เรียนมากที่สุด โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ นักศึกษาจะต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตขึ้นภายใต้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่บริบูรณ์พร้อม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเรามีความเชื่อว่า ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้นจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีปัจจัยระบบนิเวศ 3 ด้าน เรียกย่อๆ ว่า เอสอีที หรือเซ็ต (SET) คือตัวของนักศึกษา (Student) จะต้องถูกปลูกฝังให้มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ซึ่งความใฝ่รู้ใฝ่เรียนนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวของนักศึกษามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีสภาพแวดล้อม (E: Environment) ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เอื้อต่อการเติบโตงอกงามทางวิชาการและความก้าวหน้าในชีวิต ตลอดจน ด้านคณาจารย์ (T: Teacher) ก็จะต้องทำให้บทเรียนนั้นมีความน่าสนใจ ทำให้นักศึกษานั้นเกิดความอยากเรียนรู้ด้วยเช่นกัน การใช้ VR ร่วมกับอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มระบบนิเวศของการเรียนรู้ ณ คณะฯ ในการมาเยี่ยมชมในวันนี้ ท่านจะได้เห็นตัวอย่างจากคณาจารย์และนักศึกษา ร่วมอยู่ในชั้นเรียนจริงๆ ว่าเมื่อ VR ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับการเรียนการสอน จะทำให้บทเรียนน่าเรียนรู้มากขึ้นอย่างไร เช่น นักศึกษาสามารถแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนไอเดียที่ได้เห็นจาก VR ผ่านสมาร์ทบอร์ดประเภทต่างๆ อีกทั้ง โลกเสมือนทำให้ย่นเวลาการเรียนรู้ที่เดิมอาจต้องใช้หลายสัปดาห์ มาเหลือเพียงไม่กี่นาทีอย่างไร

ข้อดีของเทคโนโลยี VR คือไม่เพียงแต่ไม่ต้องออกไปในสถานที่จริงทุกครั้งที่ต้องการเรียนรู้ แต่หลายครั้งโลกของจริงก็ไม่เอื้อให้ผู้เรียนเข้าไปเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเพราะระยะทาง โรคระบาด หรือรอบการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีของจริงให้ดูตลอดเวลา หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สถานศึกษาควบคุมไม่ได้ เช่น วิชาการสอบบัญชี หรือ Audit ต้องมีการเรียนรู้วิธีการตรวจนับสต๊อกสินค้า ซึ่งถ้าเป็นโลกสมัยก่อนต้องพานักศึกษาไปฝึกนับสต๊อกที่สถานประกอบการบางแห่ง อาจจะไม่มีสต็อกให้นับหรือว่าไม่ได้อยู่ในรอบที่สถานประกอบการสะดวกที่จะต้อนรับ นักศึกษาจึงไม่สามารถที่จะเข้าไปฝึกตามเวลาที่เขาต้องการได้ แต่โลกใน VR ทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษาไม่หยุดชะงัก เห้นได้ชัดเลยว่า VR นี้ทำให้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ครบถ้วนพร้อมใช้สำหรับนักศึกษาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทรงพลังมากขึ้นเมื่อบูรณาการกับเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อื่นๆ ดังที่กล่าวถึงใน SET แล้วว่านอกจากสื่อและอุปกรณ์ที่พร้อมแล้ว ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้สอนเองก็สำคัญ คณะของเราก็มีการอบรมพัฒนาอาจารย์อย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการเรียนการสอน การออกแบบบทเรียน ตลอดจนการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่พึ่งพาแต่การสอบ นอกจากนี้ ยังมีการจ้างนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีความคล่องแคล่ว ในการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางเทคนิค (Technical Support) ทำงานอยู่หลังฉากประกบอาจารย์แบบ 1 ต่อ 1 เพื่ออำนวยให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้แบบไร้รอยตะเข็บอีกด้วย จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ที (T) ก็ว่าได้


ทั้งนี้คาดว่าจะนำ เทคโนโลยี VR มาใช้ในการเรียนการสอน นำร่องในระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ เทอม 2 ของปีการศึกษา 2563 (ปลายเดือน พ.ย. นี้) โดย เริ่มต้นที่ 26 บทเรียน โดยแทรกอยู่ในวิชาต่างๆของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ใน 4 ภาควิชาคือ ภาควิชาการจัดการ ภาควิชาการบัญชี ภาควิชาการเงินและการธนาคาร และภาควิชาการตลาด

นักเรียนที่กำลังมองหาสถานศึกษาที่เน้นการให้ผู้เรียน มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด เชิญชวนให้มาสมัครเรียนคณะบริหารธุรกิจ มช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรปริญญาตรี ทุกสาขา เพื่อจะได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มาพลิกโฉมปฏิวัติการเรียนรู้ให้บทเรียนมีความน่าสนใจ และเป็นประโยชน์ ทำให้การเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักศึกษาราบรื่นไร้รอยต่อ จนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ในตัวผู้เรียนดีที่สุด

อ.ดร.เอื้อบุญ เอกะสิงห์ จากภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาควิชาการบัญชี ได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้ในหลายๆ วิชา ทั้งการบัญชีต้นทุน การบัญชีบริหาร และการสอบบัญชี เพราะว่า VR นั้นสามารถทำให้ เราก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาควิชาการบัญชี ซึ่งรองรับนักศึกษาจำนวนมาก การที่จะพานักศึกษาทั้งหมดออกไปดูสถานที่จริง อาจจะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในช่วงโควิด19 ที่มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถพานักศึกษาไปดูงานได้ ก็สามารถใช้ VR มาช่วยเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าไปเสมือนอยู่ในสถานที่จริงๆ ได้มองดูสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจ ด้วยมุมมองที่เป็น 360 องศา รวมทั้งการที่เราสามารถแทรกข้อมูลต่างๆ ที่อยากจะให้นักศึกษาได้เห็นใน VR ทำให้มองเห็นวิธีการปฏิบัติงานจริงได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องจินตนาการเอาเองอีกต่อไป

ผศ.ดร.อมลยา โกไศยกานนท์ กล่าวว่า ทางภาควิชาบัญชีของเราได้รับโจทย์มาให้ทำในส่วนของ VR เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน โดยทางกลุ่มได้เลือกเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีบริหาร ได้แก่ บัญชีต้นทุน ทางกลุ่มจึงมาช่วยกันคิดว่าควรทำอย่างไรเพื่อที่จะให้นักศึกษาสามารถใช้สื่อการเรียนการสอนของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สุดท้ายเราได้บทสรุปเป็นการทำสื่อการเรียนการสอน โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านเกมส์ โดยให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาในโรงงานเสมือนจริง และหลังจากที่นักศึกษาได้ศึกษาแล้ว นักศึกษาจะสามารถเข้าไปเล่นเกมส์ต่อที่ห้องเล่นเกมส์ ซึ่งจะจำลองขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาลองเล่นเกมส์ เพื่อจำแนกต้นทุนต่างๆ ตามที่ได้ไปศึกษาจากโรงงานเสมือนจริง ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าการใช้สื่อการสอนในลักษณะนี้ น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้นักศึกษาสนใจและเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นเทคนิคการสอนใหม่ และเราเป็นแห่งแรกที่ใช้ VR เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

อ.ชานนท์ ชิงชยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน โดยในส่วนของภาคการเงิน ได้ออกแบบให้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือนจริง หรือ ห้อง Lab ให้กับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในหัวข้อ การประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ การประเมินสินเชื่อ รวมถึงการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ในการสื่อสารกับนักลงทุน ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กรณีของวิชาประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ปกติแล้วโอกาสที่นักศึกษาจะได้ออกไปนอกสถานที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนเรื่องของเวลา รวมไปถึงในเรื่องของการเดินทางต่างๆ แต่เมื่อนำเอา VR มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในของวิชานี้ ช่วยทำให้นักศึกษาสามารถที่จะไปสำรวจ สามารถที่จะไปเก็บข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ได้โดยที่นักศึกษาไม่ต้องเดินทางไปจริง และ Subject Property ที่จะทำการประเมินก็ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถที่จะเดินทางไปได้ทั่วโลก หรือแม้กระทั่งจำลองอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาตามโจทย์ที่ต้องการ ส่วนนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า VR ช่วยเข้ามาทำให้นักศึกษาสามารถที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้จริงๆ ในส่วนของการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่นี้ ผมก็อยากจะเชิญชวนให้นักศึกษารวมถึงทุกๆท่านที่มีความสนใจได้ลองเข้ามาใช้เทคโนโลยี VR กันมาก ๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ฉีกแนวไปจากการเรียนรู้แบบเดิม

ร่วมแสดงความคิดเห็น