กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ”

มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีโรงเรียนในเขตภาคเหนือเข้าร่วมกว่า 180 แห่ง มุ่งหวังสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเองเพื่อความยั่งยืนต่อไป

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดการประชุมโรงเรียนในเขตภาคเหนือ ขึ้นเเมื่อวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. 2563 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจตามกรอบแนวคิด ของโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (โรงเรียนพัฒนาตนเอง) และการนำระบบสารสนเทศ (Info) มาใช้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ให้แก่โรงเรียนเป้าหมายรุ่นที่ ๑ และรุ่นที่ ๒ และหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ ในหัวข้อ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาคเหนือ” ในงานมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ”  ร่วมด้วยดร. อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และ สถานศึกษา จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นอกจากนี้ยังมี ดร. กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้แทนจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), ได้เข้าร่วมด้วยเพื่อชี้แจงแนวนโยบายความร่วมมือในการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมเป็นหนึ่งในทีมสนับสนุนของโครงการฯ ซึ่งจะทำหน้าที่เปรียบเสมือน พี่เลี้ยง (Coach) ที่จะคอยแนะนำในเรื่องการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบให้แก่โรงเรียนในเครือข่าย ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน สมุทรสาคร นครปฐม และ อยุธยา ในปีนี้ยังคงดำเนินงานต่อเนื่องร่วมกับ 59 โรงเรียนในเครือข่ายเดิม และยังได้ขยายการทำงานร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายในรุ่นที่ 2 อีก 34 โรงเรียน ในงานนี้ยังมีการลงนามบันทึกตกลงความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมและ 70 โรงเรียนในเครือข่ายซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในโครงการฯ ว่า “จากที่ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนในรุ่นที่ 1 มาเกือบ 1 ปี นั้นได้เห็นว่าโรงเรียนมีพัฒนาการและมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Transformation) ผ่านองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย คือ ผู้นำ เป้าหมาย ชุมชน บรรยากาศการเรียนรู้ เทคโนโลยี หลักสูตรและการประเมิน รูปแบบและการปฏิบัติการสอน การพัฒนาวิชาชีพ และการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนโรงเรียนทั้งในด้านการบริหาร ด้านการสอน และ ด้านการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังได้เห็นว่าครูผู้สอนมีความเข้าใจมากขึ้นในการนำองค์ความรู้ซึ่งเป็นนวัตกรรมของมูลนิธิฯ คือการจัดกิจกรรม Makerspace (พื้นที่นักสร้างสรรค์) เรียนรู้ผ่านกระบวนการ Steam Design Process ไปปรับใช้ในการจัดกิจรรมการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน โดยหวังผลให้ทุกโรงเรียนได้พัฒนาตนเอง สามารถต่อยอดประยุกต์องค์ความรู้ และนำไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียน และในที่สุดสามารถโรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ร่วมแสดงความคิดเห็น