เตือนประชาชนเตรียมรับมืออากาศหนาว ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเตรียมรับมืออากาศหนาว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน อุณหภูมิอาจลดลงในช่วงเวลากลางคืน ขอให้ประชาชนเตรียมเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เน้นดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง เพราะหากป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ พร้อมแนะ 6 วิธีปฏิบัติตนในภาวะอากาศหนาว

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ทางภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย อากาศเริ่มเย็นลงในช่วงเวลากลางคืน จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ หากเลือกซื้อเสื้อกันหนาวมือสองมาสวมใส่ อาจมีเชื้อโรคหรือพาหะนำโรคติดมากับเสื้อผ้า หากไม่ทำความสะอาดก่อน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ เช่น โรคกลากเกลื้อนจากเชื้อรา โรคภูมิแพ้ และโรคผิวหนังจากพาหะนำโรค อาทิ ตัวไร ตัวเรือด เห็บ หมัด และโลน เป็นต้น

กรมควบคุมโรคขอแนะนำ 6 วิธีปฏิบัติ ในการเตรียมรับมืออากาศหนาว ดังนี้

  1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มเครื่องดื่มที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื่นของผิวหนัง
  2. เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือผ้าห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองให้แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือต้ม เพื่อป้องกันโรคผิวหนัง
  3. งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงภาวะอากาศหนาว เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้และไม่ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
  4. ระมัดระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยที่กินยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก และอื่นๆ ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง
  5. ในช่วงอากาศหนาวอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 ที่มีการติดต่อในลักษณะเดียวกัน จึงขอให้ประชาชนยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน  ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของต่างๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์  เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรเว้นระยะห่าง  แยกของใช้ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด  หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมที่อยู่ในสถานที่แออัด
  6. หมั่นดูแลรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และอาศัยอยู่ในที่อบอุ่น สามารถป้องกันลมหนาวได้อย่างเหมาะสม

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปรับลมหนาวตามภูเขาและยอดดอยต่างๆ เมื่อเข้าไปใช้บริการตามแหล่งที่พักหรือกางเต็นท์  ควรสังเกตในเรื่องความสะอาดที่พักเป็นหลัก หากเป็นเต็นท์ก็ควรสังเกตว่ามีเชื้อราหรือไม่ เนื่องจากอากาศเย็นจัดและมีความชื้นสูง จะทำให้มีเชื้อราขึ้นได้ง่าย และที่สำคัญควรดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเพิ่มการดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะกลุ่มดังกล่าวนี้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย หรือหากป่วยจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ถ้าพบว่ามีอาการป่วย ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น