(มีคลิป) กกต.เชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรม”การเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์”

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรม”การเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์” พร้อมแจงข้อกฎหมายลงนามเลือกตั้งสมานฉันท์ ​อย่าเอาสถาบันมาอิงหาเสียง 3 ผู้สมัครชิงนายกฯ ร่วมลงนามพร้อมผู้สมัคร ส.อบจ.ชม.

วันที่ 9 ต.ค. 2563 เวลา 13.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเชียงใหม่ออคิด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการให้ความรู้ที่เท่าทันในการกระทำผิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงป็นประมุข ผู้สมัครนายก อบจ. 3 ราย คือ หมายเลข 1 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง อดีต ส.ว.เชียงใหม่ กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ หมายเลข 2นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ. 2 สมัย กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม หมายเลข 3 นายวินิจ จินใจ สมาชิกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ จากผู้สมัครนายก อบจ. 6 ราย และผู้สมัคร ส.อบจ.42 เขต เข้าร่วม 102 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 142 คน โดยมี นายธัชพล อภิรติมัย ปลัด อบจ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการ กกต.ประจำ อบจ.เชียงใหม่ ร่วมและสังเกตการณ์ ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

โดยสรุปมีผู้สมัคร ส.อบจ.เชียงใหม่ ทั้ง 42 เขต จำนวน 140 คน ผู้สมัครชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ จำนวน 6 คน ลำดับที่ 1 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร, ลำดับที่ 2 นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์, ลำดับที่ 3 นายวินิจ จินใจ, ลำดับที่ 4 นายบดินทร์ กินาวงค์, ลำดับที่ 5 นายวสันต์ วัชวงษ์ และลำดับที่ 6 นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ซึ่งภายในกิจกรรมยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจในการยื่นเกี่ยวกับเรื่องบัญชีทรัพย์สินและค่าใช้จ่าย พร้อมความรู้ในเรื่องด้านกฏหมายเกี่ยวกับการขออนุญาติการหาเสียงผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ด้วย

ทางด้านนายเกรียงไกร​ พานดอกไม้​ ผอ.กกต.จ.​เชียงใหม่ ​เปิดเผยว่า​ วันนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการให้ความรู้ที่เท่าทันในการกระทำผิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.อบจ.และนายก อบจ. และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์​ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบแนวทางการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบและประกาศที่กำหนด ป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อสิทธิ์​ขายเสียง ใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน​ รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่ต้องรายงานด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดพิธีลงนามพันธะสัญญาของผู้สมัครทั้งหมด ในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย​ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่ง​ใส​ และที่สำคัญได้เน้นย้ำเรื่องการห้ามนำเรื่องสถาบันมาใช้หาเสียง รวมทั้งการกระทำอื่นใดที่เข้าข่ายตามที่กฎหมาย​กำหนด​ ล่าสุดยืนยันว่า​ ขณะยังไม่มีเรื่องร้องเรียนใดๆ​ เข้ามา​ ซึ่งระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบคุณสมบัติ​ของผู้สมัครทั้ง นายก​ อบจ. 6 ​ราย​ และ​ ​ส.อบจ.​140 ราย​ ใน 42​ เขต 25 อำเภอ ที่จะประกาศ​รับรองภายใน​ 13​ พ.ย.นี้.

กิจกรรมดังกล่าวเพื่อตอบข้อสงสัยผู้สมัครทุกราย เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียกฎหมาย และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติถูกต้อง โดยเชิญ ป.ป.ช.เชียงใหม่ มาให้ความรู้การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่สำคัญผู้สมัครห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องหาเสียง หรือเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห้ามนักการเมือง ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วยผู้สมัครหาเสียง ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า มีผู้สมัครนายก อบจ. 6 ราย ผู้สมัคร ส.อบจ. 142 ราย รวมเป็น 148 ราย บางส่วนไม่ได้มาร่วมกิจกรรมดังกล่าว ถือว่าเสียโอกาส เพราะได้สรุปสาระสำคัญการหาเสียงอย่างกระชับ ได้ใจความ เป็นการลดเวลาศึกษาระเบียบกฎหมายได้มาก ส่วนการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง 7 ราย พร้อมประสานฝ่ายความมั่นคงและการข่าว ติดตามและตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งทุกตำบล และมีเครือข่ายคณะกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยทุกหมู่บ้านเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ พร้อมแจ้งเบาะแสทุจริตดังกล่าว แต่ยังไม่พบเบาะแส หรือเรื่องร้องเรียนอย่างใด

ทางด้านนายธัชพล กล่าวว่า หลังรับสมัครนายก และส.อบจ. 42 เขตแล้ว ได้ส่งประวัติผู้สมัครทุกรายไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 แห่ง ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ก่อนประกาศเป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการ วันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ ถ้าคุณสมบัติผู้สมัครไม่ครบถ้วน ต้องเว้นชื่อและหมายเลขผู้สมัครไว้ ถ้าลงคะแนนถือเป็นบัตรเสียทันที ดังนั้นเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย การแพ้ชนะถือเป็นเรื่องปกติ อยากให้ผู้สมัครรู้จักแพ้ รู้จักชนะ มีน้ำใจ และสามัคคีมากกว่า

“เบื้องต้นกำหนดหน่วยเลือกตั้ง รวม 3,068 หน่วย มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง 9 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ (รปภ.) 2 นาย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อคัดกรองโควิด 3 คน รวมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 14 คน/หน่วย รวมเจ้าหน้าที่จัดเลือกตั้งดังกล่าวกว่า 43,000 คน ซึ่งครั้งแรก ตั้งงบจัดเลือกตั้ง 80 ล้านบาท แต่เพิ่มเป็น 116 ล้านบาท เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งเพิ่ม ตามมาตรการควบคุมโรคของสาธารณสุขด้วย”.

ร่วมแสดงความคิดเห็น