กรมอนามัย เผยผล ‘อนามัยโพล’ พบคนกรุง-ปริมณฑล หวั่นวิตก กลัวฝุ่น PM2.5 ทำลายสุขภาพ

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องการเตรียมตัวรับมือฝุ่น PM2.5 ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด พบว่า ประชาชนร้อยละ 68 มีความวิตกกังวล และกลัวว่า PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และร้อยละ 65 ไม่ทราบว่าปัญหา PM2.5 จะเกิดขึ้นช่วงไหน ขณะที่การเตรียมตัวของประชาชนเพื่อรับมือก่อนเกิดปัญหา PM2.5 พบว่า ร้อยละ 27 สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 17 ทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ ล้างพัดลม


​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสูง เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและภาวะลมสงบ ทำให้ฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งจากการจราจร การเผาไหม้ ไม่สามารถกระจายตัว จึงทำให้ฝุ่นสะมสมในปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจ อนามัยโพลเรื่องการเตรียมตัวรับมือฝุ่น PM2.5 จากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี จำนวน 1,230 คน พบว่าร้อยละ 68 มีความวิตกกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากมีขนาดเล็กและมองไม่เห็น อาจเข้าถึงถุงลมปอด ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ และบางคนมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว อาจเพิ่มความรุนแรงของโรคและ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว


​“ขณะที่ประชาชนร้อยละ 65 ไม่ทราบว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 กำลังจะเกิดขึ้นช่วงไหน และสำหรับการ เตรียมดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวในช่วงก่อนเกิดปัญหาฝุ่นนั้นพบว่า ร้อยละ 27 มีการสำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 17 ทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ ล้างพัดลม และมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น สามารถเข้าถึงข้อมูล ที่แสดงระดับสีเตือนความรุนแรงของ PM2.5 และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการเตรียมในเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองอากาศ เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนป่วยไว้ล่วงหน้า เตรียมเบอร์โทรฉุกเฉิน เป็นต้น” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

​รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ผลสำรวจอนามัยโพลยังพบอีกว่า ประชาชน ส่วนใหญ่กังวลว่ากลุ่มวัยที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 มากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงาน กวาดถนน จึงควรแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ก่อนออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และควรติด ตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือ แอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น