กรมอนามัย ชู ผักพื้นบ้าน “ขี้เหล็ก – ยอดมะขาม” ปรุงเมนูต้านหนาว

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำเมนูเด็ด แกงขี้เหล็ก แกงยอดมะขาม อาหารรสเปรี้ยวอมขมจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เพิ่มความอบอุ่นและเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคหวัด พร้อมแนะยึดหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ สร้างสุขภาพดีรับหน้าหนาว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการเลือก
กินอาหารในช่วงหน้าหนาว ว่า ปัญหาสุขภาพที่มากับหน้าหนาวมักมีผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายคือ       ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ประชาชนจึงควรกินอาหารที่เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย    และเป็นอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ ๆ เลือกทำเมนูอาหารจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาลและหาได้ง่าย ในช่วง         หน้าหนาว เช่น ดอกขี้เหล็ก พริกหนุ่ม/พริกหวาน ใบเหลียง กระเจี๊ยบ เพราะมีวิตามินซีช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้าน      โรคหวัด และเน้นเมนูอาหารที่มีเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ เช่น แกงส้ม แกงป่า แกงขี้เหล็ก แกงเลียง แกงแค เป็นต้น แต่หากจะกินอาหารจำพวกอาหารทอด หรือกะทิ อาจทำได้โดยมีอาหารที่ใช้ไขมันในการประกอบอาหาร 1 รายการต่อมื้อ เช่น ไข่เจียวคู่กับแกงส้ม ปลาทอดคู่กับแกงเลียง และควรกินอาหารร่วมกับผักสดอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การกินอาหารให้สุขภาพดีอย่างยั่งยืนนั้นมีวิธีง่าย ๆ โดยยึดตามหลัก           โภชนบัญญัติ 9 ประการ ได้แก่

  1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
  2. กินข้าวเป็นหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
  3. กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ
  4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
  5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
  6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
  7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
  8. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
  9. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่า เป็นประจำวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

“ทั้งนี้ อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจะทำให้ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ส่งผลต่อ        ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการย่อยอาหาร ผิวหนังแห้งแตกและคัน ประชาชนจึงควรเอาใจใส่ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน กินอาหารตามหลักโภชนาการ ในปริมาณที่เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกาย ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับกับ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาล” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น